xs
xsm
sm
md
lg

หั่นราคาเดินรถเตาปูน-บางซื่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-BMCL ลดค่าติดตั้งระบบคุมเดินรถ 1 สถานีช่วงเตาปูน-บางซื่อ เหลือ 693 ล้านบาท เคาะทำสัญญาจ้าง 1 ปี ค่าจ้าง 60 ล้านบาท เร่งชงบอร์ดรฟม.9 ก.ย.นี้ มั่นใจปรับครม.ไม่กระทบแผนรถไฟฟ้า เผยสีส้มและม่วงใต้ เปิดประมูลได้ในปลายปี 58-ต้นปี 59 ส่วนสีชมพูและเหลือง ประมูล ในปี 59 แบบPPP -Net Cost เอกชนลงทุนสร้างและเดินรถพร้อมตั้งกก.เยียวยาชาวบ้านประชาสงเคราะห์ แก้ปัญหาค้านสายสีส้ม

นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้า การเดินรถ 1 สถานี ช่วงเตาปูน-บางซื่อ ว่า คณะกรรมการ ตามมาตรา 13 แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยเอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35) ที่มี นายสัจจพงศ์ สนั่นเสียง รองผู้ว่าฯรฟม. (ปฏิบัติการ) เป็นประธานได้ข้อสรุปในการเจรจาตรงกับ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL แล้ว ในรายละเอียดของการดำเนินงานและวงเงินค่าดำเนินงาน โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างสัญญาจากนั้นจะเร่งสรุปเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติต่อไป

ด้านนายสัจจพงศ์ สนั่นเสียง รองผู้ว่าฯรฟม. (ปฏิบัติการ) ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรา 13 แห่งพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35 การคัดเลือกเอกชนเดินรถ 1 สถานี ช่วงเตาปูน-บางซื่อ กล่าวว่า คณะกรรมการฯ มาตรา13 ได้ประเมินราคากลาง ค่าลงทุนติดตั้งระบบที่สถานีเตาปูนไว้ที่ 701 ล้านบาท โดยทางBMCL ได้ยื่นข้อเสนอราคามาที่ 740 ล้านบาทซึ่งสูงกว่าราคากลางแต่เมื่อได้เจรจาต่อรองกันล่าสุดทาง BMCL ได้ให้ความร่วมมือปรับลดราคาลงมาอยู่ที่ 693 ล้านบาทซึ่งเป็นตัวเลขที่ตกลงร่วมกันและยอมรับได้เพราะต่ำกว่าราคากลางประมาณ 10% โดยทางบริษัทได้ทำหนังสือยืนยันราคามาเรียบร้อยแล้ว

ส่วนการเดินรถตกลงทำเป็นสัญญาจ้าง ในรูปแบบ PPP-Gross Cost เป็นระยะเวลา 1 ปีแบบชั่วคราว ซึ่งตกลงค่าจ้างที่ประมาณ 60 ล้านบาทต่อปี โดยใช้ฐานการคำนวณจากค่าดำเนินการ ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร ค่าไฟฟ้า ค่าซ่อมบำรุง ส่วนตัวรถนั้นทาง BMLC จะใช้รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล วิ่งต่อไปอีก 1 สถานี ทำให้ไม่มีต้นทุนในการด้านตัวรถไฟฟ้า ส่วนสัญญาระยะยาวนั้นจะรอความชัดเจนของการเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้แต่หากไม่ทันในระยะเวลา 1 ปีอาจจะมีการเจรจากับ BMCL เพื่อต่อสัญญาจ้างอีก 1 ปี

โดย คณะกรรมการมาตรา13 จะประชุมอีกครั้งในวันที่ 28 ส.ค.เพื่อสรุปรายละเอียดทั้งหมดและเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ที่มีพล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ เป็นประธานในวันที่ 9 ก.ย.นี้ เพื่อเร่งเสนอเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคมและครม.ขออนุมัติต่อไป อย่างไรก็ตาม ทาง BMCL ระบุว่า หลังลงนามสัญญาจะใช้เวลา ในการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณระบบสื่อสาร ระบบตั๋วโดยสารที่สถานีเตาปูนและการทดสอบนั้น จะต้องใช้เวลา 15 เดือน โดยรับที่จะเร่งรัดการทำงานให้เร็วที่สุด เพื่อให้เปิดให้บริการในส่วนของ1 สถานีได้ทันกับการเปิดเดินรถสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกสูงสุด

 ชี้ปรับครม.ไม่กระทบแผนรถไฟฟ้า

นายพีระยุทธกล่าวถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี วงเงินลงทุน 10,325.76 ล้านบาท และสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ มีระยะทางทั้งสิ้น 23.6 กิโลเมตร 104,116.61 ล้านบาท รฟม.ได้เสนอเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคมแล้วอยู่ระหว่างเสนอครม.อนุมัติ คาดว่าจะเปิดประกวดราคาได้ในปลายปี 2558 หรือต้นปี 2559

โดยรฟม.ลงทุนก่อสร้างงานโยธาเอง โดยสายสีส้มมีค่าก่อสร้างงานโยธา 82,608 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 9,625 ล้านบาท ส่วนค่างานระบบและตัวรถไฟฟ้าประมาณ14,613.52และค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการ 3,270.34ส่วนสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ มีค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 16,771 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานโยธา 72,134 ล้านบาท ค่าสิ่งก่อสร้างทดแทนหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบ 1,335 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานก่อสร้าง 2,939 ล้านบาท ค่า Provisional Sum ของงานโยธา 10,73 ล้านบาท

ส่วนสายสีชมพู ช่วงแคราย-ปากเกร็ด-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 56,725 ล้านบาท และสายสีเหลือง ช่วง ลาดพร้าว- สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. วงเงินลงทุน 54,768.45 ล้านบาท ซึ่งจะก่อสร้างเป็นระบบ รถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Straddle Monorail) โดยเสนอลงทุนรูปแบบ PPP Net Cost ซึ่งตามขั้นตอน พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556จะต้องนำเสนอกระทรวงคมนาคมเห็นชอบก่อนจากนั้นส่งเรื่องกลับรฟม.เพื่อเสนอต่อไปยัง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และคณะ กรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) เห็นชอบ โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการมาตรา 35 แห่งพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56

ขึ้นมาดำเนินการคัดเลือกผู้ลงทุนโครงการในขณะเดียวจะต้องเสนอครม.เพื่อขออนุมัติเนื่องจากจะต้องขอรับงบประมาณในการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน สำหรับสายสีชมพู ประมาณ 6,847 ล้านบาท สายสีเหลืองประมาณ 6,013 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเปิดประมูลได้กลางปี-ปลายปี 2559 ซึ่งถือเป็น รถไฟฟ้า 4 สายที่อยู่ในแผนการลงทุน และแม้จะมีการปรับครม.และเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแต่เชื่อว่า โครงการจะได้รับการผลักดันต่อ เพราะจะเป็นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ภาครัฐต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ

 ตั้งกก.เยียวยาชาวบ้านประชาสงเคราะห์ แก้ปัญหาค้านสายสีส้ม

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก)ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม นั้น นายพีระยุทธกล่าวว่า ขณะนี้รฟม.ได้ตั้งคณะกรรมการเยียวยาสำหรับผู้ได้รับผลกระทบทั้งโครงการแล้ว ซึ่งจะเน้นเป็นพิเศษเพื่อแก้ไขปัญหาชาวบ้านในชุมชนแม่เนี้ยว 3 ย่านประชาสงเคราะห์ที่คัดค้าน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดและค่าชดเชยตามความเหมาะสม ซึ่งจะมีการลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชน และเห็นว่าประชาชนต้องการความชัดเจนและรายละเอียดในค่าผลตอบแทน
กำลังโหลดความคิดเห็น