xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.ดันประมูลรถไฟฟ้าสีส้ม-ม่วงใต้ปลายปีนี้ ส่วน BMCL หั่นราคาเร่งเปิดเดินรถเตาปูน-บางซื่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


BMCL ลดค่าติดตั้งระบบคุมเดินรถ 1 สถานีช่วงเตาปูน-บางซื่อ เหลือ 693 ล้านบาท รฟม.เคาะทำสัญญาจ้าง 1 ปี ค่าจ้าง 60 ล้านบาท เร่งชงบอร์ด 9 ก.ย.นี้ ขณะที่มั่นใจปรับ ครม.ไม่กระทบแผนรถไฟฟ้า เผยสีส้มและม่วงใต้เปิดประมูลได้ในปลายปี 58-ต้นปี 59 ส่วนสีชมพูและเหลืองประมูลในปี 59 แบบ PPP-Net Cost เอกชนลงทุนสร้างและเดินรถ พร้อมตั้งกรรมการเยียวยาชาวบ้านประชาสงเคราะห์ แก้ปัญหาค้านสายสีส้ม

นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเดินรถ 1 สถานี ช่วงเตาปูน-บางซื่อ ว่า คณะกรรมการ ตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยเอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35) ที่มี นายสัจจพงศ์ สนั่นเสียง รองผู้ว่าฯ รฟม. (ปฏิบัติการ) เป็นประธาน ได้ข้อสรุปในการเจรจาตรงกับ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL แล้ว ในรายละเอียดของการดำเนินงานและวงเงินค่าดำเนินงาน โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างสัญญา จากนั้นจะเร่งสรุปเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติต่อไป

ด้านนายสัจจพงศ์ สนั่นเสียง รองผู้ว่าฯ รฟม. (ปฏิบัติการ) ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35 การคัดเลือกเอกชนเดินรถ 1 สถานี ช่วงเตาปูน-บางซื่อ กล่าวว่า คณะกรรมการฯ มาตรา 13 ได้ประเมินราคากลาง ค่าลงทุนติดตั้งระบบที่สถานีเตาปูนไว้ที่ 701 ล้านบาท โดยทาง BMCL ได้ยื่นข้อเสนอราคามาที่ 740 ล้านบาทซึ่งสูงกว่าราคากลาง แต่เมื่อได้เจรจาต่อรองกันล่าสุดทาง BMCL ได้ให้ความร่วมมือปรับลดราคาลงมาอยู่ที่ 693 ล้านบาทซึ่งเป็นตัวเลขที่ตกลงร่วมกันและยอมรับได้เพราะต่ำกว่าราคากลางประมาณ 10% โดยทางบริษัทได้ทำหนังสือยืนยันราคามาเรียบร้อยแล้ว

ส่วนการเดินรถตกลงทำเป็นสัญญาจ้างในรูปแบบ PPP-Gross Cost เป็นระยะเวลา 1 ปีแบบชั่วคราว ซึ่งตกลงค่าจ้างที่ประมาณ 60 ล้านบาทต่อปี โดยใช้ฐานการคำนวณจากค่าดำเนินการ ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร ค่าไฟฟ้า ค่าซ่อมบำรุง ส่วนตัวรถนั้นทาง BMLC จะใช้รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลวิ่งต่อไปอีก 1 สถานี ทำให้ไม่มีต้นทุนในด้านตัวรถไฟฟ้า

ส่วนสัญญาระยะยาวนั้นจะรอความชัดเจนของการเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้ แต่หากไม่ทันในระยะเวลา 1 ปีอาจจะมีการเจรจากับ BMCL เพื่อต่อสัญญาจ้างอีก 1 ปี

โดยคณะกรรมการมาตรา 13 จะประชุมอีกครั้งในวันที่ 28 ส.ค.เพื่อสรุปรายละเอียดทั้งหมดและเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. ที่มี พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ เป็นประธานในวันที่ 9 ก.ย.นี้ เพื่อเร่งเสนอเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคมและ ครม.ขออนุมัติต่อไป อย่างไรก็ตาม ทาง BMCL ระบุว่า หลังลงนามสัญญาจะใช้เวลาในการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณระบบสื่อสาร ระบบตั๋วโดยสารที่สถานีเตาปูน และการทดสอบนั้นจะต้องใช้เวลา 15 เดือน โดยรับที่จะเร่งรัดการทำงานให้เร็วที่สุด เพื่อให้เปิดให้บริการในส่วนของ 1 สถานีได้ทันกับการเปิดเดินรถสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกสูงสุด

ชี้ปรับ ครม.ไม่กระทบแผนรถไฟฟ้า

นายพีระยุทธกล่าวถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี วงเงินลงทุน 10,325.76 ล้านบาท และสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ มีระยะทางทั้งสิ้น 23.6 กิโลเมตร 104,116.61 ล้านบาท รฟม.ได้เสนอเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคมแล้ว อยู่ระหว่างเสนอ ครม.อนุมัติ คาดว่าจะเปิดประกวดราคาได้ในปลายปี 2558 หรือต้นปี 2559 โดย รฟม.ลงทุนก่อสร้างงานโยธาเอง โดยสายสีส้มมีค่าก่อสร้างงานโยธา 82,608 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 9,625 ล้านบาท ส่วนค่างานระบบและตัวรถไฟฟ้าประมาณ 14,613.52 ล้านบาท และค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการ 3,270.34 ล้านบาท ส่วนสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ มีค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 16,771 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานโยธา 72,134 ล้านบาท ค่าสิ่งก่อสร้างทดแทนหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบ 1,335 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานก่อสร้าง 2,939 ล้านบาท ค่า Provisional Sum ของงานโยธา 10,73 ล้านบาท

ส่วนสายสีชมพู ช่วงแคราย-ปากเกร็ด-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 56,725 ล้านบาท และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. วงเงินลงทุน 54,768.45 ล้านบาท ซึ่งจะก่อสร้างเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Straddle Monorail) โดยเสนอลงทุนรูปแบบ PPP Net Cost ซึ่งตามขั้นตอน พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 จะต้องนำเสนอกระทรวงคมนาคมเห็นชอบก่อน จากนั้นส่งเรื่องกลับ รฟม.เพื่อเสนอต่อไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) เห็นชอบ

โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56 ขึ้นมาดำเนินการคัดเลือกผู้ลงทุนโครงการ ในขณะเดียวกันจะต้องเสนอ ครม.เพื่อขออนุมัติเนื่องจากจะต้องขอรับงบประมาณในการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน สำหรับสายสีชมพู ประมาณ 6,847 ล้านบาท สายสีเหลืองประมาณ 6,013 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเปิดประมูลได้กลางปี-ปลายปี 2559 ซึ่งถือเป็นรถไฟฟ้า 4 สายที่อยู่ในแผนการลงทุน และแม้จะมีการปรับ ครม.และเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แต่เชื่อว่าโครงการจะได้รับการผลักดันต่อ เพราะจะเป็นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ภาครัฐต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ตั้ง กก.เยียวยาชาวบ้านประชาสงเคราะห์ แก้ปัญหาค้านสายสีส้ม

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม นั้น นายพีระยุทธกล่าวว่า ขณะนี้ รฟม.ได้ตั้งคณะกรรมการเยียวยาสำหรับผู้ได้รับผลกระทบทั้งโครงการแล้ว ซึ่งจะเน้นเป็นพิเศษเพื่อแก้ไขปัญหาชาวบ้านในชุมชนแม่เนี้ยว 3 ย่านประชาสงเคราะห์ที่คัดค้านซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดและค่าชดเชยตามความเหมาะสม ซึ่งจะมีการลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชน และเห็นว่าประชาชนต้องการความชัดเจนและรายละเอียดในค่าผลตอบแทน
กำลังโหลดความคิดเห็น