xs
xsm
sm
md
lg

ครม.อนุมัติงบ 3.9 ล้านสร้างสะพานแม่น้ำเมย 2 และเห็นชอบ ร.ฟ.ท.จ่ายบำเหน็จกว่า 2.6 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ครม.ไฟเขียวงบ 3.9 พันล้านสร้างสะพานแม่น้ำเมย 2 โดยให้ความช่วยเหลือพม่าแบบให้เปล่า พร้อมเห็นชอบงบกว่า 2.4 หมื่นล้านติดตั้งระบบแก้ปัญหาจุดตัดรถไฟ 2,517 แห่งเสร็จในปี 60 และอนุมัติ ร.ฟ.ท.ทยอยจ่ายบำเหน็จพนักงานรวมกว่า 2.6 หมื่นล้าน โดยใช้เงินจากค่าเช่าที่ดินและรายได้บางส่วน

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (2 มิ.ย.) ว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบโครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองแม่สอด พร้อมสะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 ของกรมทางหลวง (ทล.) งบประมาณ 3,900 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณก่อสร้างทางเลี่ยงและสะพานในฝั่งประเทศไทย วงเงิน 2,900 ล้านบาท ซึ่งได้รับจัดสรรงบกลางปี 2558 วงเงิน 500 ล้านบาท ส่วนที่เหลือผูกพันปี 2559-2560 พร้อมอนุมัติเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าแก่สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า จำนวน 1,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินการก่อสร้างสะพานในฝั่งพม่า โดยการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปี 2560

โดยโครงการจะมีการก่อสร้าง 3 ส่วน คือ แนวเส้นทางเป็นแนวทางใหม่ ขนาด 4 ช่องจราจร ระยะทาง 21.40 กิโลเมตร (ฝั่งไทย 17.26 กิโลเมตร และฝั่งพม่า 4.14 กิโลเมตร) โดยมีจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณทางหลวงหมายเลข 12 และบรรจบกับถนนหมายเลข 85 (เมียวดี-กอกาเร็ก) สะพานข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2 กำหนดให้มี 2 ช่องจราจร ความยาว 760 เมตร (ฝั่งไทย 515 เมตร และฝั่งพม่า 245 เมตร) และด่านพรมแดนและจุดสลับทิศทาง กำหนดให้มี 2 แห่ง ทั้งในฝั่งไทยและพม่า โดยออกแบบให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่นของแต่ละประเทศ สำหรับจุดสลับทิศทางกำหนดไว้ที่ฝั่งไทย

เห็นชอบแก้ปัญหาจุดตัดรถไฟ 2,517 แห่งเสร็จในปี 60

พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เพื่อแก้ปัญหาอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟกับถนนจำนวน 2,517 แห่ง โดยเป็นจุดตัดที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือทางลักผ่าน 584 แห่ง (สายใต้ 456 แห่ง สายเหนือ สายอีสาน และสายตะวันออก 128 แห่ง) ดำเนินการในปี 2558-2559 งบประมาณ 470 ล้านบาท ซึ่งระยะเร่งด่วน (ปี2558) จะเป็นการติดตั้งป้ายหยุด ป้ายรูปรถไฟ พร้อมจัดทำสัญญาณเตือนไฟกะพริบตลอดเวลา เนินชะลอความเร็ว และป้ายเตือน ระยะที่ 2 (ปี 2559) ดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์เสริมเพิ่มสัญญาณจราจร “สัญญาณไฟแดงวาบพร้อมเสียงเตือน” บริเวณป้ายหยุดทั้ง 2 ด้าน ซึ่งทำงานด้วยระบบตรวจสอบขบวนรถไฟที่ระยะ 300 เมตร ก่อนถึงจุดตัดผ่าน พร้อมกันนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะต้องสำรวจจุดตัดทางรถไฟที่ไม่ได้รับอนุญาต (ทางลักผ่าน) ด้วย

ส่วนจุดตัดที่ได้รับอนุญาต 1,933 แห่ง ยังเหลือประมาณ 1,500 แห่งที่ต้องติดตั้งระบบเครื่องกั้นอัตโนมัติ หรือทำเป็นทางลอด ทางข้าม โดยอยู่ในความรับผิดชอบของ ร.ฟ.ท. กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) วงเงินรวม 24,000 ล้านบาท ดำเนินการภายในปี 2559-2560 พร้อมทั้งให้ประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กรณีที่จะมีการทำถนนผ่านทางรถไฟจะต้องขออนุมัติและประสานงานให้ชัดเจนก่อน

นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบจ่ายค่าบำเหน็จพนักงาน ร.ฟ.ท. ตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ปี 2546 โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. พนักงานที่เกษียณอายุแล้ว ประมาณ 12,000 ราย คิดเป็นเงินประมาณ 19,000 ล้านบาท โดยใช้เงินรายได้จากค่าเช่าที่ดินการรถไฟฯ และ 2. พนักงานที่ยังไม่เกษียณอายุ ซึ่งจะมีการจ่ายค่าบำเหน็จในระหว่างปี 2558-2582 รวม 25 ปี คิดเป็นเงินประมาณ 7,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 300 ล้านบาทต่อปี โดยในส่วนนี้ให้ใช้เงินรายได้จากการเดินรถ โดยค่าบำเหน็จนั้นคิดจาก 15 เท่าของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 2 แสนบาท หลังจากนี้จะต้องหารือกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ร.ฟ.ท.เพื่อปรับโครงสร้างใหม่และยกเลิกบำเหน็จ เนื่องจากขณะนี้เหลือ ร.ฟ.ท.เพียงหน่วยเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น