“พาณิชย์” เตรียมเปิดประมูลข้าว 1 ล้านตัน มีทั้งข้าวดี ข้าวเสื่อม ให้ยื่นประมูลกลางเดือน มิ.ย.นี้ ส่วนขายข้าวจีทูจีให้จีน 2 ล้านตันคาดพร้อมลงนามซื้อขายเดือน ก.ค.นี้ เชื่อทั้งปีส่งออกทะลุ 10 ล้านตัน เตรียมเจรจาญี่ปุ่นเปิดตลาดเกษตรให้ไทยเพิ่ม ทั้งข้าว ไก่ ยาง เนื้อหมู และผลไม้ แลกลงทุนรถไฟเร็วสูง
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้อนุมัติให้กรมการค้าต่างประเทศออกประกาศเปิดประมูลข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลปริมาณรวม 1 ล้านตัน มีทั้งข้าวคุณภาพดี และข้าวที่ต้องปรับปรุงคุณภาพ เปิดให้ประมูลเพื่อส่งออกและขายในประเทศ คาดว่าจะออกประกาศได้เร็วๆ นี้ และเปิดให้ผู้สนใจยื่นซองเสนอราคาได้ภายในกลางเดือน มิ.ย. 2558 โดยน่าจะขายได้ทั้งหมด เพราะขณะนี้ข้าวนาปรังเก็บเกี่ยวหมดแล้ว และตลาดมีความต้องการข้าว
ส่วนการส่งมอบข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ให้แก่รัฐบาลจีนตามสัญญาเดิม 1 ล้านตัน ที่ลงนามซื้อขายกันเมื่อปีที่ผ่านมา ล่าสุดไทยได้ส่งมอบไปแล้ว 4 แสนตัน และสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ตกลงที่จะส่งมอบเพิ่มอีก 1 แสนตัน และข้อตกลงใหม่ที่รัฐบาลจีนจะซื้อข้าวจากไทย 2 ล้านตัน แบ่งเป็นข้าวใหม่ 1 ล้านตัน และข้าวเก่า 1 ล้านตัน ส่งมอบภายในปี 2558-59 คาดว่าทั้งสองประเทศจะลงนามในสัญญาซื้อขายราวเดือน ก.ค.นี้ ทั้งนี้ ไทยยังได้เตรียมเข้าประมูลขายข้าวให้ฟิลิปปินส์ด้วย
“จากแนวโน้มข้าวที่จะระบาย การขายข้าวจีทูจีให้จีน และการไปร่วมประมูลขายข้าวให้ฟิลิปปินส์ มั่นใจว่าการส่งออกข้าวในปีนี้จะทำได้ 10 ล้านตัน แม้ในช่วงต้นปีจะสตาร์ทไม่ดี แต่เชื่อว่าน่าจะเป็นไปได้ เพราะปีนี้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ทำให้ผลผลิตของหลายประเทศลดลง ขณะที่หลายประเทศมีความต้องการนำเข้าข้าวมากขึ้น”
พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า ระหว่างวันที่ 2-6 มิ.ย.จะเดินทางไปญี่ปุ่น โดยจะไปสร้างความเชื่อมั่นให้รัฐบาลญี่ปุ่นว่าไทยจะยังคงให้ญี่ปุ่นก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่-มาบตาพุด ตามที่ญี่ปุ่นต้องการ ไม่ได้จะเอาเส้นทางนี้เสนอให้จีนอย่างที่มีข่าว และในระหว่างการก่อสร้างรถไฟเส้นทางดังกล่าว ไทยจะขอให้ญี่ปุ่นนำเข้าสินค้าเกษตรจากไทยเพิ่มขึ้น และเปิดโควตานำเข้าให้มากขึ้น โดยเน้นข้าว ไก่สด ยางพารา เนื้อหมู และผลไม้
ทั้งนี้ ปัจจุบันญี่ปุ่นกำหนดโควตานำเข้าข้าวจากไทยปีละ 68,200 ตัน ภาษีในโควตาไม่มี และภาษีนอกโควตาตันละ 341 เยน รวมถึงจะหาแนวทางความร่วมมือทำธุรกิจสปาไทยในญี่ปุ่น ขณะเดียวกัน จะสร้างความเชื่อมั่นให้ญี่ปุ่นว่าไทยยังคงเป็นฐานการผลิตรถยนต์อีโคคาร์ และชิ้นส่วนยานยนต์เหมือนเดิม
สำหรับการผลักดันการส่งออก กระทรวงฯ ได้ปรับแผนการทำใหม่ โดยได้เชิญเอกชนมาหารือ กำหนดตลาดเป้าหมายและกลุ่มสินค้าเป้าหมาย เพื่อเดินทางโรดโชว์ในต่างประเทศนับ 10 คณะ เช่น กลุ่มยานยนต์ จะไปโรดโชว์แอฟริกา อเมริกาใต้, เครื่องใช้ไฟฟ้า จะไปตะวันออกกลาง และอาเซียน, อัญมณีและเครื่องประดับ ตลาดจีน และตะวันออกกลาง เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังได้เร่งรัดการเจรจาจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับประเทศต่างๆ ที่ยังค้างอยู่ให้เสร็จโดยเร็วเพื่อช่วยสนับสนุนการส่งออก ซึ่งในส่วนของอินเดีย ได้หารือกับ รมว.พาณิชย์อินเดียแล้วว่าสองประเทศพร้อมจะเปิดการเจรจาเอฟทีเอในส่วนที่เหลือ โดยอะไรที่ยังเป็นปัญหา ตกลงกันไม่ได้ ก็ยังไม่นำมาเจรจา แต่ให้เจรจาในสิ่งที่ตกลงกันได้ก่อนเพื่อให้การเจรจาแล้วเสร็จภายในปี 2558 ส่วนเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป (อียู) มีความคืบหน้าไปมากในระดับเจ้าหน้าที่ ขณะที่ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (ทีพีพี) ไทยยื่นความจำนงเข้าร่วมแล้ว แต่ล่าช้ามาจากรัฐบาลที่แล้ว จึงยังไม่สามารถเข้าร่วมการเจรจาได้ ส่วนเอฟทีเอฉบับใหม่ เช่น ตุรกี ปากีสถาน คาดจะเริ่มเจรจาได้ในเร็วๆ นี้