ส.อ.ท.เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน เม.ย. 58 ต่ำสุดในรอบ 7 เดือน และเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สี่ ปัจจัยหลักจากภาวะแรงซื้อในประเทศถดถอยจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ส่งออกชะลอตัว แนะรัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาราคาสินค้าภาคเกษตร ปรับโครงสร้างภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ SMEs
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index : TISI) ในเดือนเมษายน 2558 จำนวน 1,202 ราย ครอบคลุม 43 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2558 อยู่ที่ระดับ 86.2 ปรับตัวลดลงจากระดับ 87.7 ในเดือนมีนาคม ซึ่งยังคงเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สี่ และต่ำสุดในรอบ 7 เดือนนับตั้งแต่ ต.ค. 57 ทั้งนี้ ค่าดัชนีฯ ที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
“ปัจจัยลบที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยและปัญหาภัยแล้ง ส่งผลต่อการบริโภคและการใช้จ่ายโดยเฉพาะภาคเกษตร สะท้อนจากดัชนียอดคำสั่งซื้อและยอดขายภายในประเทศปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสภาพคล่องของการดำเนินกิจการ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม และอีกส่วนจากภาวะการส่งออกที่ยังคงชะลอตัว” นายสุพันธุ์กล่าว
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 102.1 เพิ่มขึ้นจาก 100.4 ในเดือนมีนาคม โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นเกิดจากองค์ประกอบยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนเมษายนนี้ คือเร่งแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เพื่อเพิ่มกำลังซื้อและกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ อีกทั้งเสนอให้ภาครัฐปรับโครงสร้างภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs เพื่อจูงใจให้เข้าสู่ระบบภาษี พร้อมทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าไปลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV เพื่อสร้างโอกาสในการขยายตลาดการค้าและการลงทุนของผู้ประกอบการไทย และสนับสนุนการปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตเพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าไทย และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน