ส.อ.ท.จับมือ “นิด้าโพล” สำรวจความคิดเห็นเอสเอ็มอี ระบุร้อยละ 74.19 เห็นด้วยเว้นตรวจภาษีย้อนหลัง เชื่อปรับโครงสร้างภาษีจูงใจเข้าถึงสู่ระบบ ระบุนิยม “ธุรกิจเอสเอ็มอี” ยอดขายต้องไม่เกิน 50 ล้านบาท
ดร.กำพล ปัญญาโกเมศ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ นิด้า เปิดเผยว่า ตามที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับสถาบันบัณฑิตย์พัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้าโพล สอบถามความคิดเห็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ กระจายทุกกลุ่มอุตสาหกรรม รวมทั้งสิ้น 895 ตัวอย่าง เกี่ยวกับโครงสร้างอัตราภาษีในสายตาของเอสเอ็มอี โดยความคิดเห็นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีต่อการยกเว้นการตรวจสอบภาษีย้อนหลังสำหรับภาคธุรกิจเอสเอ็มอีที่มียอดขายไม่เกิน 200 ล้านบาท จากการสำรวจพบว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเห็นด้วยร้อยละ 74.19 ไม่เห็นด้วยร้อยละ 18.55 และยังไม่แน่ใจคิดเป็นร้อยละ 7.26
สำหรับความคิดเห็นของผู้ประกอบการเอสเอ็มีที่มีต่อการปรับโครงสร้างภาษีนิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเริ่มจากร้อยละ 5 และปรับเพิ่มขึ้นตามผลประกอบการอย่างเป็นสัดส่วน ในอัตราสูงสุดไม่เกินร้อยละ 20 เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีรายย่อย จากเดิมต้องชำระภาษีร้อยละ 15-20 ว่าจะสามารถจูงใจให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้ามาอยู่ในระบบภาษีของภาครัฐมากขึ้นหรือไม่นั้น จากการสำรวจพบว่าโครงสร้างภาษีดังกล่าวสามารถจูงใจให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบมากขึ้นถึงร้อยละ 67.82 คิดว่าไม่แตกต่างจากการใช้อัตราภาษีเดิมร้อยละ 19.66 คิดว่าทำให้เข้าสู่ระบบได้น้อยลงร้อยละ 0.78 และยังไม่แน่ใจร้อยละ 11.73
ส่วนการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีต่อคำจำกัดความที่เหมาะสมของ “ธุรกิจเอสเอ็มอี” พบว่า ผู้ประกอบการเห็นว่าคำจำกัดความที่เหมาะสมมากที่สุดคือ ธุรกิจที่มียอดขายไม่เกิน 50 ล้านบาท/ปี คิดเป็นร้อยละ 48.83 รองลงมาคือ ธุรกิจที่มียอดขายไม่เกิน 100 ล้านบาท/ปี คิดเป็นร้อยละ 25.14 ธุรกิจที่มียอดขายไม่เกิน 200 ล้านบาท/ปี ร้อยละ 10.06 ธุรกิจที่มียอดขายไม่เกิน 300 ล้านบาท/ปี ร้อยละ 3.69 และยังไม่แน่ใจคิดเป็นร้อยละ 10.06 นอกจากนี้ ยังมีความเห็นต่อการให้คำจำกัดความอื่น ได้แก่ เป็นธุรกิจที่มียอดขายไม่เกิน 10 ล้านบาท/ปี, 15 ล้านบาท/ปี, 20 ล้านบาท/ปี และ 30 ล้านบาท/ปี คิดเป็นร้อยละ 2.23 ด้านความต้องการของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการให้กรมสรรพากรจัดอบรมหลักสูตรการจัดทำบัญชีนั้น จากการสำรวจพบว่าผู้ประกอบการต้องการให้กรมสรรพากรจัดอบรมสูงถึงร้อยละ 87.82 ไม่ต้องการให้จัดอบรมร้อยละ 10.39 และยังไม่แน่ใจร้อยละ 1.79
ขณะที่ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีต่อเรื่องภาษีในภาคธุรกิจเอสเอ็มอีนั้น จากการสำรวจพบว่าสิ่งที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเสนอแนะมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 32.56 คือ ขั้นตอนการขอใบกำกับภาษี การเสียภาษี มีวิธีการยุ่งยาก ซับซ้อน ควรเพิ่มความรวดเร็วการตรวจสอบ และคืนเงินภาษีให้มากขึ้น ซึ่งหากเป็นไปได้กรมสรรพากรควรคำนวณยอดขายและยอดภาษีที่จะต้องชำระเพื่อลดความยุ่งยากในการจ่ายภาษี พร้อมทั้งมีการใช้ระบบออนไลน์เข้ามาช่วยในการแจ้งข้อมูล ข่าวสาร ประชาสัมพันธ์ เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีให้ทั่วถึง พร้อมปรับปรุงเว็บไซต์ให้ผู้ใช้สามารถกรอกรายละเอียดได้ง่ายขึ้น รองลงมาคือ เสนอให้รัฐบาลควรช่วยเหลือเอสเอ็มอีด้านต่างๆ เกี่ยวกับภาษี เช่น การลดหย่อนภาษี หรือยกเว้นในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เป็นต้น คิดเป็นร้อยละ 27.91
นอกจากนี้ ยังเสนอให้ควรมีการสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่ผู้ประกอบการ เช่น การเปิดอบรมเกี่ยวกับระบบภาษีในเอสเอ็มอี คิดเป็นร้อยละ 18.60 เนื่องจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอียังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องระบบภาษี และเสนอแนะว่าควรมีการปรับระบบโครงสร้างภาษีตามอัตราเดิม หรือปรับอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือปรับตามขนาดของธุรกิจ และการเสียภาษีย้อนหลังควรงดเก็บภาษีเงินเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 13.95 รวมถึงเสนอให้กรมสรรพากรควรตรวจสอบกิจการเพื่อนำเอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบให้เข้มงวดมากขึ้น เพื่อความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน และลดช่องว่างการหลีกเลี่ยงภาษี โดยคิดเป็นร้อยละ 6.98
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *