xs
xsm
sm
md
lg

สรรพากรเสียงแข็ง! ค้านนิรโทษกรรมภาษีเอสเอ็มอี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร
กรมสรรพากรเผยจุดยืนไม่เห็นด้วยนิรโทษกรรมภาษีย้อนหลังให้เอสเอ็มอี ชี้ไม่ช่วยให้เกิดการเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้อง แถมรัฐสูญเสียรายได้กว่า 2.7 หมื่นล้านบาทต่อปี และไม่เป็นธรรมแก่ผู้เสียภาษีรายอื่น

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า จากกรณีที่ภาคเอกชนเสนอให้กรมสรรพากรปรับลดอัตราภาษีและนิรโทษกรรมภาษีสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนั้น กรมสรรพากรได้มีการชี้แจงต่อที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ( กรอ.) ว่า กรมสรรพากรรู้สึกกังวลและไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของภาคเอกชนในเรื่องดังกล่าว เพราะวิธีการดังกล่าวไม่ช่วยให้มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าระบบอย่างถูกต้องแล้ว ยังจะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ราวปีละ 25,000-270,000 ล้านบาทต่อปีอีกด้วย

ทั้งนี้ กรมสรรพากรเคยนิรโทษกรรมภาษีให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอี 5 ครั้ง ในระหว่างปี 2520-2534 ด้วยเหตุผลหลักคือ ผู้ประกอบธุรกิจประสบปัญหาด้านการเงินและต้องการสนับสนุนการพัฒนาประเทศ โดยการนิรโทษกรรมภาษีดังกล่าวทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ 1,000-4,000 ล้านบาทต่อปี แต่ในทางการลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศยังไม่เห็นผล และยังพบว่าผู้ประกอบการกลุ่มนี้ยังมีพฤติกรรมเลี่ยงภาษี

ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบการอ้างว่า เหตุที่เลี่ยงภาษีเพราะอัตราภาษีอยู่ในเกณฑ์สูงนั้น ปัจจุบันอัตราภาษีที่จัดเก็บผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็สอี หากรายได้ไม่เกิน 3 แสนบาทแรกจะเสียภาษีในอัตรา 0% ส่วนที่เกิน 3 แสนบาท แต่ไม่เกิน 3 ล้านบาทจะเสียในอัตรา 15% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราต่ำสุดในกลุ่มประเทศเอเชียอยู่แล้ว

"กรณีนิติบุคคลรายใหญ่เสียในอัตราต่ำที่ 20% โดยเหตุที่ปรับอัตราภาษีมาอยู่ในระดับนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้ามาสู่ระบบภาษีอย่างถูกต้อง การอ้างเรื่องภาษีสูงจึงไม่ใช่เหตุผล หากกรมฯ นิรโทษกรรมภาษีตามข้อเสนอของภาคเอกชนจะถือเป็นการเลือกปฏิบัติ และไม่เป็นธรรมต่อผู้เสียภาษีรายอื่น ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ เช่น มนุษย์เงินเดือนที่เสียภาษีอย่างถูกต้องทุกคน ขณะเดียวกัน การลดภาษีในอัตราต่ำเฉพาะผู้ประกอบการในไทยยังถือเป็นการขัดต่ออนุสัญญาภาษีซ้อนอีกด้วย”

ทั้งนี้ ข้อเสนอให้ปรับลดภาษีเอสเอ็มอีเป็นแบบขั้นบันได เพื่อให้มีผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบมากขึ้นนั้น จากฐานข้อมูลกรมฯ พบว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอี 4 แสนราย จาก 6 แสนรายที่เข้ามาอยู่ในระบบภาษีอย่างถูกต้อง ส่วนที่ยังไม่เข้าระบบ จัดแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ คือ 1. กลุ่มที่เตรียมเป็นบริษัทร้าง 2. กลุ่มที่ตั้งขึ้นมาเพื่อออกใบกำกับภาษีปลอม 3. กลุ่มที่ตั้งขึ้นเพื่อประกอบธุรกิจนำเข้าและส่งออกเพียงครั้งเดียวและปิดทิ้งบริษัท และ 4. กลุ่มที่ตั้งใจจดทะเบียนไว้ แต่ไม่มีรายได้ และบางส่วนมีรายได้แต่ไม่บันทึกและยื่นงบเปล่า

ส่วนกรณีที่ภาคเอกชนระบุว่าเอสเอ็มอีไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้นั้น กระทรวงการคลังได้สนับสนุนแบงก์รัฐปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างเต็มที่แล้ว แม้แต่เอสเอ็มอีที่ไม่มีสินทรัพย์หรือหลักประกันก็สามารถเข้ามาขอกู้เงินได้โดยมีแบงก์รัฐช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้ แต่การเข้ามาขอสินเชื่อยังคงอยู่ในเกณฑ์ต่ำ

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEsผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น