xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ก.พ. 58 ดิ่งต่อเนื่องเดือนที่ 2 กำลังซื้อวูบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประธานส.อ.ท.
ส.อ.ท.เผยผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แถมอีก 3 เดือนข้างหน้าค่าดัชนียังต่ำกว่า 100 เป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน เหตุกำลังซื้อประชาชนยังคงซบ ยอดผลิตรถยนต์ 2 เดือนแรกยังไม่ฟื้นลดลง 15.57% เคาะปีนี้ผลิตรถ 2.15 ล้านคัน ด้านผลสำรวจเอสเอ็มอีหนุนรัฐเว้นตรวจสอบภาษีฯ ย้อนหลัง

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนกุมภาพันธ์ 2558 อยู่ที่ 88.9 ลดลงจากระดับ 91.1 ในเดือนมกราคม ซึ่งถือเป็นการลดลงเป็นเดือนที่ 2 ต่อเนื่องเพราะกังวลต่อยอดขาย ยอดผลิต และส่งออกที่ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกและกำลังซื้อในประเทศซบเซา ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่น 3 เดือนข้างหน้าลดลงจาก 100.4 ในเดือนมกราคมเหลือ 99.2 นับเป็นค่าดัชนีลดลงต่ำกว่าระดับ 100 เป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือนสะท้อนความเชื่อมั่นไม่ดีต่อเศรษฐกิจในอนาคต

“ส.อ.ท.ต้องการให้รัฐเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมเร่งเจรจาการค้าชายแดนเพื่อเพิ่มการส่งออก” นายสุพันธุ์กล่าว

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงศ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวว่า ภาพรวมการผลิตเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2558 มีจำนวน 344,751 คัน เพิ่มขึ้น 2.56% ส่วนยอดผลิตเพื่อขายในประเทศมี 127,551 คัน เท่ากับ 37% ของยอดผลิตทั้งหมด ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 15.57% การส่งออก 200,613 คัน เพิ่มขึ้น 12.58% มีมูลค่าส่งออก 88,710.25 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.25%

ทั้งนี้ ส.อ.ท.ยังคาดการณ์การผลิตรถยนต์ปี 2558 ที่ 2.15 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 14.36% แบ่งเป็นการส่งออก 1.2 ล้านคัน และในประเทศ 95,000 คัน ส่วนการผลิตรถจักรยานยนต์คาดปีนี้มี 2 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 8.54% เป็นการส่งออก 400,000 คัน และขายในประเทศ 160,000 คัน

“ยอดส่งออกคาดว่าเป็นไปตามเป้าหมาย เพราะขณะนี้ตลาดส่งออกรถยนต์กลับมาฟื้นตัว ส่วนยอดขายในประเทศคาดงานมอเตอร์โชว์ที่กำลังจะเริ่มในวันที่ 25 มี.ค.จะกระตุ้นยอดขายให้ดีขึ้น” นายสุรพงษ์กล่าว

นายกำพล ปัญญาโกเมศ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ นิด้า กล่าวว่า ตามที่ ส.อ.ท.ร่วมกับสถาบันบัณฑิตย์พัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้าโพล สอบถามความคิดเห็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วไปเกี่ยวกับโครงสร้างอัตราภาษีในสายตาของเอสเอ็มอี โดยความคิดเห็นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีต่อการยกเว้นการตรวจสอบภาษีย้อนหลังสำหรับภาคธุรกิจเอสเอ็มอีที่มียอดขายไม่เกิน 200 ล้านบาท จากการสำรวจพบว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเห็นด้วย 74.19% ไม่เห็นด้วย 18.55% และยังไม่แน่ใจคิดเป็น 7.26%
กำลังโหลดความคิดเห็น