xs
xsm
sm
md
lg

สภาอุตฯเชียร์รัฐ นิรโทษกรรมภาษีSMEsนอกระบบย้อนหลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.เป็นห่วงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยทั่วประเทศขณะนี้กว่า 2.7 ล้านราย เนื่องจากต่างกังวลถึงปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษี ซึ่งขณะนี้มีมากกว่า 2 ล้านบาท ที่ยังไม่มาขึ้นทะเบียนในระบบ เพราะกลัวว่าจะถูกเก็บภาษีย้อนหลัง ดังนั้นจึงต้องการให้ภาครัฐมีนโยบายที่ชัดเจนว่าจะดำเนินการเรื่องดังกล่าวนี้อย่างไร ซึ่งในส่วนส.อ.ท.ต้องการให้รัฐบาลออกกฎหมายนโยบายนิรโทษกรรม ไม่เก็บภาษีเอสเอ็มอีนอกระบบย้อนหลัง เพื่อจูงใจให้กลุ่มนี้เข้ามาลงทะเบียนในระบบ เพราะเอสเอ็มอีมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นการดูแลเอสเอ็มอีนั้น ส.อ.ท.ได้เสนอเบื้องต้นต่อภาครัฐไปแล้ว ในการหารือร่วมกัน ที่บ้านเกษะโกมลเมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา ใน 3 ประเด็นหลัก เสนอให้รัฐบาลเร่งกำหนดให้เอสเอ็มอีเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมออกมาตรการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน พร้อมส่งเสริมความรู้ด้านนวัตกรรม การพัฒนาสินค้า และการเข้าถึงตลาด

นอกจากนี้ เสนอให้รัฐ เร่งผลักดันงบประมาณการลงทุนของประเทศ โดยเฉพาะโครงการที่เป็นการลงทุนขนาดกลางและขนาดเล็ก เพราะมีส่วนช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ลงทุนในกลุ่มนี้ได้โดยตรง สุดท้ายคือ เสนอให้รัฐบาลเร่งดูแลราคาสินค้าเกษตร ให้มีราคาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าว โดยรัฐบาลต้องมีความชัดเจนว่าจะใช้นโยบายใดในการดูแลราคาข้าว ให้เกิดประโยชน์กับชาวนามากที่สุด เพราะหากเกษตรกรมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และเพิ่มรายได้ของประเทศไปด้วย

ทั้งนี้ได้เสนอให้หน่วยงานรัฐแต่ละหน่วยงาน แต่ละกระทรวง เร่งหามาตรการช่วยเหลือ และแก้ปัญหาของผู้ประกอบการให้รวดเร็ว ขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรียอมรับว่าปัญหาแต่ละเรื่อง ต้องแก้ไขอย่างค่อยเป็น ค่อยไป และบางเรื่องก็ดำเนินการได้ทันที ซึ่งเอกชนก็เข้าใจการทำงานของภาครัฐ และต้องการรัฐเร่งเดินหน้า เพื่อเตรียมประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐ และเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) อย่างเป็นทางการอีกครั้ง

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ล่าสุดนี้ ส.อ.ท.ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กับสปป.ลาว ในการพัฒนาระบบมาตรฐานสากล อาทิ ระบบบาร์โคด เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงฐานข้อมูลกันได้ทั่วโลก โดย ส.อ.ท. จะให้ความช่วยเหลือ ให้ความรู้ ความเข้าใจ และฝึกอบรมการใช้ระบบมาตรฐานสากล ซึ่งจะส่งผลดีกับทั้ง 2 ประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการไทยที่จะส่งสินค้าเข้าไปจำหน่ายในลาว เพื่อเพิ่มปริมาณการค้าขายระหว่างกัน หลังจากเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)

“ขณะที่สปป.ลาวจะสามารถยกระดับสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรกรรม ประเภทข้าว และแป้งสาลี ให้ส่งออกได้ตามมาตรฐานสากล และอนาคต เตรียมนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้ในภาคส่วนอื่นด้วย ซึ่งจะช่วยให้มูลค่าการค้าระหว่างไทย-ลาว เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง”
กำลังโหลดความคิดเห็น