บางจากฯ แจงกำไรไตรมาส 1/58 วูบหนักเหลือเพียง 1.03 พันล้านบาท มาจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงต่อเนื่องจากปลายปีที่แล้ว ทำให้มีผลขาดทุนจากสินค้าคงคลังเกือบ 1.8 พันล้านบาท เผยราคาน้ำมันโลกขยับสูงขึ้น จึงเป็นจังหวะเหมาะที่จะลงทุนเจาะสำรวจและซื้อแหล่งปิโตรเลียมใหม่เพิ่มเติม
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (BCP) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2558 บริษัทมีรายได้จากการขายและให้บริการ 39,445 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 34% และมีกำไรสุทธิ 1,037 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,561 ล้านบาท เนื่องมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงอย่างมากตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว โดยราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบไตรมาส 1/2557 อยู่ที่ 104.45 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แต่ไตรมาส 1/2558 ราคาอยู่ที่ 51.76 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ทำให้บริษัทได้รับผลกระทบขาดทุนจากสินค้าคงคลังในไตรมาสนี้ 1,790 ล้านบาท
ส่งผลให้บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อม (EBITDA) 2,333 ล้านบาท ลดลง 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นธุรกิจการกลั่น มี EBITDA 798 ล้านบาท ลดลง 45% มีอัตราการกลั่นอยู่ที่ 1.08 แสนบาร์เรล/วัน ค่าการกลั่น 10.19 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
ธุรกิจการตลาดมี EBITDA 740 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปริมาณการจำหน่ายผ่านธุรกิจการตลาดอยู่ที่ 1,344 ล้านลิตรในไตรมาสนี้ ทำให้รักษาส่วนแบ่งการตลาดสถานีบริการน้ำมันเป็นอันดับ 2 รองจาก ปตท. ส่วนธุรกิจไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์มี EBITDA 713 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ธุรกิจไบโอฟูเอลมี EBITDA 81 ล้านบาท ลดลง 27% เนื่องจากรัฐได้ปรับลดสัดส่วนการผสมผลิตภัณฑ์บี 100 ในน้ำมันดีเซลลงจากเดิม 7% เหลือ 3.5% เป็นเวลา 60 วันในไตรมาสแรกปีนี้
ส่วนธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมี EBITDA 28 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 120% จากไตรมาส 4/2557 โดยไตรมาส 1/2558 บริษัท NIDO PETROLEUM ได้ซื้อหุ้นบริษัท GALOC PRODUCTION (GPC) ซึ่งถือหุ้น 33% ในแหล่งปิโตรเลียม GALOC ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ทำให้ปัจจุบัน NIDO มีสัดส่วนถือครองในแหล่งน้ำมันดิบ GALOC เพิ่มเป็น 55.88%
นายชัยวัฒน์กล่าวว่า ปัจจุบันการผลิตน้ำมันดิบของแหล่ง GALOC อยู่ที่ระดับ 6,500 บาร์เรล/วัน คิดเป็นสัดส่วนที่ NIDO ถือหุ้นอยู่ประมาณ 4,000 บาร์เรล/วัน ซึ่งขณะนี้บริษัทมีแผนที่จะเจาะหลุมสำรวจเพิ่มเติมในพื้นที่ใกล้เคียงแหล่ง GALOC รวมทั้งเจรจาที่จะเข้าซื้อแหล่งปิโตรเลียมในแถบตะวันออกไกลด้วย
ส่วนราคาน้ำมันดิบขณะนี้ได้ปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาตลาดดูไบอยู่ที่ 63-64 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับราคาที่เหมาะสม โดยต้นทุนการผลิตของบริษัทอยู่ที่ 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
ในวันที่ 26 พ.ค.นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ จะมีการพิจารณาเปลี่ยนแปลงกรรมการใหม่ หลังจาก ปตท.ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ได้ขายหุ้นให้กองทุนวายุภักษ์และกองทุนประกันสังคมหมดทั้ง 27.22% หลังจากนั้นก็จะมีการเสนอวาระการเพิ่มทุนใหม่อีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้ได้ยกเลิกวาระการเพิ่มทุน 315.38 ล้านหุ้นออกจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2558
แม้ว่า ปตท.จะขายหุ้นบางจากออกทั้งหมดแล้ว แต่สัญญาต่างๆ ที่ทำร่วมกันยังคงเหมือนเดิม ทั้งสัญญาการซื้อ-ขายน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป ตลอดจนการเช่าคลังน้ำมันจาก ปตท. สัญญาต่างๆ ยังมีอายุเหลืออยู่ 7-8 ปี หรือสิ้นสุดในปี 2565
ส่วนแผนการจัดหาแหล่งเงินกู้ 5 ปี วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท โดยมีส่วนหนึ่งจะใช้ชำระคืนหนี้เงินกู้หรือหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระราว 1.7 หมื่นล้านบาทนั้น บริษัทยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องหาแหล่งเงินกู้เพิ่มเติม เพราะปัจจุบันมีเงินสดในมือราว 1.4 หมื่นล้านบาทที่จะทยอยชำระคืนเงินกู้ได้
***จับมือ พพ.พัฒนาเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด
ในวันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา บมจ.บางจากปิโตรเลียมได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือในโครงการส่งเสริมและพัฒนาเชื้อเพลิงชีวมวลเพื่อผลิตพลังงานร่วมกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวเป็นการสร้างรูปแบบใหม่ของชีวมวลด้วยการแปรรูป อัดเม็ดให้มีความสม่ำเสมอความชื้นต่ำ สะดวกต่อการขนส่ง เพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าและพลังงานความร้อนสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมแทนน้ำมันและถ่านหิน คาดว่าจะเห็นเป็นรูปธรรมได้ในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ซึ่งโครงการนี้จะมีระยะเวลา 2 ปี และจะขยายเวลาออกไปตามความเหมาะสม
นายธรรมยศ ศรีช่วย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันนี้ (14 พ.ค.) จะเสนอร่างพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยปี 2558-2579 (PDP2015) ซึ่งจะมีแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก รวมถึงแผนอนุรักษ์พลังงานควบคู่กันไป คิดเป็นสัดส่วน 20% ของการใช้พลังงานทั้งหมด หรือมีกำลังการผลิตรวม 19,685 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล 5,570 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตแล้วกว่า 2,000 เมกะวัตต์ รวมทั้งให้มีการพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น เอทานอล ไบโอดีเซล เป็นต้น
นอกจากนี้ ภาครัฐเตรียมเปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้ารูปแบบ Feed in Tariff Biding (FiT- Biding) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ในช่วงเดือน มิ.ย. ล่าช้ากว่าเดิมที่คาดว่าจะมีขึ้นในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค. หลังจากกระทรวงพลังงานตรวจสอบความพร้อมและศักยภาพของระบบสายส่งของประเทศให้เพียงพอ ขณะที่ล่าสุดสามารถเคลียร์โครงการโซลาร์ฟาร์มค้างท่อได้ทั้งหมดแล้วรวมกว่า 900 เมกะวัตต์