ASTVผู้จัดการรายวัน - บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ หรือ GPSC ผู้นำในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ไอน้ำ และสาธารณูปโภคต่างๆ รวมถึงธุรกิจเกี่ยวเนื่องทั้งใน และต่างประเทศ เตรียมเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนทั่วไป หรือ IPO จำนวน 374.57 ล้านหุ้น ระดมทุนขยายกิจการทั้งใน และต่างประเทศ และเข้าซื้อกิจการด้านโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศญี่ปุ่น
นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ หรือ GPSC กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ยื่นขออนุมัติต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน (IPO) จำนวน 374.57 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 10 บาท โดยมี บล.เคที ซีมิโก้, บล.ฟินันซ่า และ บล.ทิสโก้ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
“อย่างไรก็ตาม บริษัทฯคาดว่าจะสามารถระดมทุน และเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้ภายในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ โดยวัตถุประสงค์ในการเสนอขายหุ้นเพื่อจะนำเงินไปใช้ในการขยายกิจการในธุรกิจต่างๆ ของ GPSC ทั้งใน และต่างประเทศ รวมทั้งเพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานของบริษัทฯ โดยบริษัทมีทุนจดทะเบียน 11,237,256,000 บาท เรียกชำระแล้ว จำนวน 11,237,256,000 บาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญ จำนวน 1,123,725,600 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท ต่อมา ที่ประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นของ GPSC ครั้งที่ 2/2557 เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2557 ได้มีมติเพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวนไม่เกิน 3,745,752,000 บาท โดยออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 374,575,200 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท เพื่อเสนอขายให้แก่ประชาชนโดยทั่วไปเป็นครั้งแรก (Initial Public Offering) รวมทั้งเสนอขายให้แก่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของ GPSC ส่งผลให้ GPSC มีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้นไม่เกิน 14,983,008,000 บาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญจำนวนไม่เกิน 1,498,300,800 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท”
โดยสัดส่วนการเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 374.57 ล้านหุ้น นั้น GPSC จะทำการเสนอขายให้แก่ บุคคลทั่วไป นักลงทุนสถาบัน และผู้มีอุปการคุณของ GPSC จำนวนประมาณ 365.26 ล้านหุ้น และเสนอขายให้แก่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของ GPSC จำนวนไม่เกิน 9.31 ล้านหุ้น ทั้งนี้หากมีหุ้นที่เหลือจากการเสนอขายต่อกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของ GPSC จะมีการนำหุ้นส่วนที่เหลือดังกล่าวไปเสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไป
อย่างไรก็ดี แผนการเพิ่มทุนในครั้งนี้บริษัทฯ จะนำเงินที่ได้ไปลงทุนและพัฒนาโครงการทั้งในและต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายระยะสั้นที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวมตามสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มจากปัจจุบันอีก 600-1,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2562 โดยเน้นการเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้า และลงทุนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าโคเจนเนอเรชัน (Cogeneration Power Plant) โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (Combined Cycle Power Plant) และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) และเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจที่ตั้งไว้ GPSC ได้กำหนดกลยุทธ์ในการเติบโตทางธุรกิจออกเป็น 4 แนวทางหลัก ดังนี้ 1) การเติบโตไปพร้อมกับการขยายธุรกิจของบริษัทในกลุ่ม ปตท. เพื่อสร้างความมีเสถียรภาพด้านไฟฟ้า และสาธารณูปโภคต่อกระบวนการผลิตของบริษัทต่างๆ ในกลุ่ม ปตท. 2) การเติบโตอย่างรวดเร็วผ่านการพัฒนาโครงการระยะสั้น หรือการเข้าซื้อกิจการเพื่อให้ GPSC สามารถเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าได้ในระยะสั้น GPSC จึงมีแผนพัฒนาโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆ เช่น การลงทุนต่อเนื่องใน BIC สาหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าโคเจนเนอเรชัน (Cogeneration Power Plant) โครงการที่ 2 และร่วมลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ก๊าซชีวภาพ และชีวมวล ซึ่งใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างค่อนข้างสั้น
นอกจากนี้ GPSC มีนโยบายที่จะเข้าซื้อกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน (Merger & Acquisition: M&A) ในโครงการผลิตไฟฟ้าทั้งใน และต่างประเทศ ทั้งที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว หรืออยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยล่าสุด ได้เข้าลงทุนในบริษัท Ichinoseki Solar Power - 1 GK ในสัดส่วน 99% เพื่อดำเนินกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 18 เมกะวัตต์ ตามที่ได้รับการอนุมัติจาก Ministry of Economy, Trade and Industry (METI) ของประเทศญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี บริษัทมีแผนที่จะยื่นขออนุญาตขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 20 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2560 3) การเติบโตโดยการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในประเทศ และภูมิภาคใกล้เคียง เพื่อให้ GPSC สามารถเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าได้ในระยะยาว GPSC จึงมีแผนที่จะพัฒนา และร่วมลงทุนในโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆ ในประเทศ และภูมิภาคใกล้เคียง เช่น พม่า สปป.ลาว กัมพูชา และสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เป็นต้น 4) การลงทุนในธุรกิจเกี่ยวเนื่อง นอกจากการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้า GPSC มีแผนขยายธุรกิจไปยังธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่นๆ เช่น ธุรกิจระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าและแบตเตอรี่ (Energy Storage System and Battery) โดย GPSC ได้เข้าร่วมลงทุนใน 24M ซึ่งประกอบธุรกิจหลักในการวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่ประเภทลิเทียม-ไอออน (Lithium-Ion) ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ ธุรกิจบริษัทจัดการพลังงาน (Energy Service Company: ESCO) ซึ่งให้บริการแบบครบวงจรด้านการอนุรักษ์พลังงาน และเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้พลังงาน รวมทั้งการลงทุนพัฒนาโครงข่ายสายส่งไฟฟ้า โดยมุ่งเน้นตลาดในต่างประเทศที่ยังไม่มีโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าที่ครอบคลุม เพื่อขยายความต้องการใช้ไฟฟ้า และเพิ่มโอกาสในการลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ดังกล่าว ตลอดจนแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อต่อยอดจากธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ในด้านผลการดำเนินงานนั้น ปัจจุบันรายได้หลักของ GPSC มาจากการจำหน่ายไฟฟ้าไอน้ำ และสาธารณูปโภคต่างๆ ให้แก่ลูกค้าหลัก 2 กลุ่ม คือ (1) กฟผ. กฟภ. และ กฟน. ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐ และ (2) ลูกค้าอุตสาหกรรม โดยรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. กฟภ. และ กฟน. นั้นจะเป็นรายได้ที่ค่อนข้างมีความแน่นอน เนื่องจากเป็นการซื้อขายภายใต้สัญญาซื้อขายระยะยาวที่มีการกำหนดปริมาณ และสูตรราคารับซื้อที่แน่นอน อย่างไรก็ดี ในส่วนของรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าไอน้ำ และสาธารณูปโภค ให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรม ถึงแม้ว่าจะมีการทำสัญญาระยะยาวที่มีการกำหนดปริมาณรับซื้อขั้นต่ำ และสูตรราคาที่แน่นอน แต่รายได้จากลูกค้าอุตสาหกรรมบางส่วนอาจแปรผันไปตามการผลิต และการหยุดซ่อมบำรุงรักษาเครื่องจักรของลูกค้าอุตสาหกรรม นอกจากนี้ GPSC มีการขยายธุรกิจโดยการเข้าลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าต่างๆ โดยในปี 2556 GPSC ได้ดำเนินการซื้อหุ้นในธุรกิจผลิตไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศจากบริษัทต่างๆ ภายในกลุ่ม ปตท. ซึ่งโรงไฟฟ้าภายใต้บริษัทต่างๆ ดังกล่าวบางส่วนได้เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว และบางส่วนอยู่ระหว่างก่อสร้าง ส่งผลให้รายได้ของกลุ่มบริษัทในอนาคตจะเติบโตขึ้นอย่างเป็นลำดับตามการทยอยรับรู้รายได้จากบริษัทต่างๆ ที่ GPSC ได้เข้าลงทุนอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ในปี 2556 บริษัทมีรายได้รวมเท่ากับ 26,517 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.34 จาก 24,937 ล้านบาท ในปี 2555 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการขายไฟฟ้าเป็นสำคัญ ซึ่งส่งผลให้ GPSC มีกำไรขั้นต้นเท่ากับ 1,985 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.64 จาก 1,953 ล้านบาท ในปี 2555 อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น และต้นทุนทางการเงินลดลงจากการชำระคืนเงินกู้ แต่เนื่องจาก GPSC มีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนและผลเสียหายจากคดีความระหว่างบริษัท และ กฟผ. ที่เกิดจากการตีความตามสัญญาที่ไม่ตรงกัน ซึ่งอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดแล้วในปี 2556 รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายทางภาษีเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปี 2556 GPSC มีกำไรสุทธิเท่ากับ 1,166 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6.03 จาก 1,241 ล้านบาท ในปี 2555
ขณะที่ผลประกอบการปี 2557 บริษัทมีรายได้รวมเท่ากับ 23,891 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 9.92 จาก 26,517 ล้านบาท ในปี 2556 โดยสาเหตุหลักมาจากการลดลงของรายได้ค่าพลังงานไฟฟ้าตามสัญญา IPP เนื่องจาก กฟผ. สั่งให้โรงไฟฟ้าศรีราชาจ่ายไฟฟ้าในปริมาณที่ต่ำกว่าปริมาณตามสัญญา หรือสั่งให้หยุดผลิตไฟฟ้าเป็นบางช่วง อย่างไรก็ตาม จากการสั่งลดปริมาณการผลิตหรือสั่งหยุดผลิตไฟฟ้าดังกล่าว ส่งผลให้ต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติที่ขึ้นอยู่กับปริมาณการผลิต และค่าซ่อมบำรุงรักษาเครื่องจักรตามสัญญาซ่อมบำรุงรักษาระยะยาวซึ่งจ่ายตามชั่วโมงการเดินเครื่อง ลดลงเช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงไม่ส่งผลกระทบในทางลบต่อกำไรของ GPSC ประกอบกับการที่โรงผลิตสาธารณูปการระยอง มีสัดส่วนการขายไอน้ำเพิ่มขึ้น ส่งผลให้กำไรขั้นต้นในปี 2557 เท่ากับ 2,083 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.96 เมื่อเทียบกับ 1,985 ล้านบาท ในปี 2556 ประกอบกับมีส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม และกิจการที่ควบคุมร่วมกันเพิ่มขึ้น รวมทั้งต้นทุนทางการเงินที่ลดลงจากการชำระคืนเงินกู้ ส่งผลให้กำไรสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ในปี 2557 เท่ากับ 1,581 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.58 เมื่อเทียบกับ 1,166 ล้านบาท ในปี 2556
“จากการเติบโตของธุรกิจต่างๆ ของ GPSC ในช่วงที่ผ่านมา ผลประกอบการของ GPSC มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากความต้องการในการใช้กระแสไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้มีรายได้จากการขายไฟฟ้าเติบโตขึ้นอย่างเป็นลำดับ และเงินที่จะได้รับจากการ IPO นั้น GPSC จะนำไปขยายธุรกิจ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งจะส่งผลให้ GPSC มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งเป็นฐานในการขยายธุรกิจต่อไป และน่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนได้ว่า หุ้นที่ลงทุนไปเป็นหุ้นที่มีความแข็งแกร่ง และมีการเติบโตที่ดี”
ลิ้งโค้ดหน้าเพจ