GPSC สรุปราคาซื้อขายหุ้น IPO 29 เม.ย. เทรดหุ้นได้ 18 พ.ค.นี้ โดยเงินที่ได้จากการระดมทุนใช้ขยายธุรกิจไฟฟ้าเพิ่มทั้งในและต่างประเทศเพิ่มอีก 600-1,000 เมกะวัตต์ในปี 2562 โดยวางงบลงทุน 5 ปีนี้อยู่ที่ 1.8 หมื่นล้านบาท แย้มรุกธุรกิจผลิตแบตเตอรี่ลิเทียม-ไอออนที่สหรัฐฯ หวังดึงมาตั้งโรงงานในไทย
นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) เปิดเผยว่า GPSC ได้ยื่นขออนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 374.57 ล้านหุ้น คาดว่าจะสรุปราคาเสนอขายหุ้น IPO ได้ในวันที่ 29 เม.ย.นี้ ภายหลังจากที่ได้มีการทำ Book Build เป็นที่เรียบร้อยในวันที่ 27 เม.ย. และจะเสนอขายหุ้น IPO ระหว่างวันที่ 7-12 พ.ค. 58 พร้อมเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ฯ วันที่ 18 พ.ค. 58
ขณะนี้มีบริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งได้วิเคราะห์หุ้นดังกล่าวระบุราคา Fair Value อยู่ที่ 30-35 บาท ทั้งนี้ได้แต่งตั้ง บล.เคที ซีมิโก้ บล.ฟินันซ่า และ บล.ทิสโก้ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน โดยเบื้องต้นจะจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวให้นักลงทุนสถาบันประมาณ 30-40% ที่เหลือเสนอขายหุ้น IPO ให้แก่รายย่อย โดยปีแรกบริษัทตั้งเป้าหมายที่จะอยู่ในกลุ่ม SET 50 และจะเริ่มกระบวนการเพื่อให้ได้รับเลือกเป็นสมาชิกอยู่ในกลุ่มดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI ) ด้วย
สำหรับเม็ดเงินที่ได้จากการระดมทุนขายหุ้น IPO ครั้งนี้ประ มาณ 1 หมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งจะนำไปใช้ในการลงทุนขยายธุรกิจไฟฟ้าเพิ่มเติมทั้งในและต่างประเทศโดยมีแผนลงทุน 5 ปีนี้ จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวมตามสัดส่วนการถือหุ้นจากปัจจุบันเพิ่มอีก 600-1,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีกำลังการผลิต 1,851 เมกะวัตต์ โดยเน้นการซื้อกิจการโรงไฟฟ้าและลงทุนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าโคเจเนอเรชัน ภายใต้กลยุทธ์การเติบโตทางธุรกิจ 4 แนวทางหลัก คือ 1. เติบโตไปพร้อมกับการขยายธุรกิจของบริษัทในกลุ่ม ปตท. 2. เติบโตอย่างรวดเร็วผ่านการพัฒนาโครงการระยะสั้นทั้งโรงไฟฟ้าหมุนเวียนทั้งแสงอาทิตย์ พลังลม ก๊าซชีวภาพและชีวมวล หรือการเข้าซื้อกิจการโครงการโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประทศที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์หรืออยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยล่าสุดบริษัทได้เข้าไปลงทุนในบริษัท Ichinoseki Solar Power-1GK ในสัดส่วน 99% เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ญี่ปุ่น กำลังผลิต 18 เมกะวัตต์ แต่อยู่ระหว่างการเจรจาขออนุมัติจากหน่วยงานราชการที่จะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 20 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2560
3. การเติบโตจากการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในประเทศและภูมิภาคนี้ เช่น พม่า และ สปป.ลาว โดยปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ร่วมกับกลุ่มพันธมิตรในการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 1,800-2,000 เมกะวัตต์ที่มะริด ประเทศพม่า คาดว่าจะยื่นผลศึกษาดังกล่าวต่อรัฐบาลพม่าในกลางปีนี้
และ 4. ลงทุนในธุรกิจเกี่ยวข้อง เช่น โครงการพัฒนาโครงข่ายสายส่งไฟฟ้า ธุรกิจระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ซึ่งบริษัทได้เข้าไปถือหุ้น 17% ในบริษัท 24M ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่ประเภทลิเทียม-ไอออนที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการผลิตแบตเตอรี่ตัวอย่างนำร่องขึ้นมาและอยู่ระหว่างการพัฒนาต่อยอดการใช้งาน หากว่ามีความเป็นไปได้ก็จะลงทุนตั้งโรงงานผลิตเชิงพาณิชย์ โดยบริษัทหวังจะดึงการลงทุนสร้างโรงงานแบตเตอรี่ลิเทียม-ไอออนที่ใช้ในอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้ามาตั้งในไทยหรือในภูมิภาคนี้ เพื่อรองรับความต้องการใช้ในอนาคต
นายนพดลกล่าวต่อไปว่า เงินลงทุนที่ใช้ในช่วง 5 ปีนี้อยู่ที่ 1.8 หมื่นล้านบาท นำมาใช้ลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายแน่นอนแล้วที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้า 500 เมกะวัตต์ทั้งใน และต่างประเทศ เช่น โครงการไชยะบุรี ที่ สปป.ลาว โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ-น้ำลิก 1 โรงไฟฟ้าที่นิคมฯ บางปะอิน โรงไฟฟ้าที่นิคมไออาร์พีซี เป็นต้น ซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 500 เมกะวัตต์ โดยจะเริ่มทยอยรับรู้รายได้ในปีนี้ โดยเมื่อโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จจะทำให้ GPSC มีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 1,851 เมกะวัตต์
ที่ผ่านมาบริษัทฯ มีการขยายตัวตามกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตลอด 5 ปีนี้เฉลี่ยปีละ 17% โดยปี 2557 บริษัทฯ มีรายได้รวม 2.38 หมื่นล้านบาท ลดลง 9.92% จากปีก่อน เนื่องจากการลดลงของรายได้ค่าพลังงานไฟฟ้าตามสัญญา IPP เนื่องจาก กฟผ.สั่งโรงไฟฟ้าศรีราชาจ่ายไฟฟ้าในปริมาณที่ต่ำกว่าปริมาณสัญญา แต่ไม่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อกำไรของ GPSC ทำให้กำไรสุทธิปี 2557 อยู่ที่ 1.58 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 35%
GPSC มีทุนจดทะเบียน 11,237,256,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 1,123,275,600 หุ้น มูลค่าตราไว้หุ้นละ 10 บาท เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 57 ได้มีมติเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก3,745,752,000 บาท โดยออกหุ้นสามัญ 374,575,200 หุ้น เพื่อเสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก โดยจะเสนอขายให้แก่บุคคลทั่วไป นักลงทุนสถาบัน และผู้มีอุปการคุณของ GPSC จำนวน 365.26 ล้านหุ้น และเสนอขายให้แก่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของ GPSC ไม่เกิน 9.31 ล้านหุ้น