ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง โชว์ผลการดำเนินงานปี57 มีกำไรสุทธิ 28.49 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 131% เทียบปีก่อน หลังโรงไฟฟ้าชีวมวลช้างแรกเริ่มผลิดอกออกผล ด้านเอ็มดีหนุ่มไฟแรง “เชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล” เปิดแผนปี 58 เดินหน้าลุยธุรกิจเต็มสูบ ผุดโรงไฟฟ้าชีวมวลต่อเนื่อง ลุยซื้อกิจการทั้งใน และต่างประเทศ ตั้งเป้าภายใน 3 ปีข้างหน้ากำลังการผลิตเพิ่มเป็น 150 เมกะวัตต์ ส่วนบอร์ดไฟเขียวให้บริษัทย่อย “พัทลุง กรีน เพาเวอร์-สตูล กรีน เพาเวอร์” ทำสัญญาว่าจ้างก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กมาก 2 แห่ง กับ TPOLY มูลค่า 1.3 พันล้านบาท
นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH ผู้ประกอบธุรกิจหลักโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประเภทต่างๆ เปิดเผยว่า ในปี 2557 บริษัทมีรายได้รวม 258.26 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 78.01 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 180.25 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 28.49 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.12 ล้านบาท หรือ 131% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมีกำไรสุทธิ 12.37 ล้านบาท โดยปัจจุบัน TPCH มีกำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ และจะทยอยเพิ่มขึ้นเป็น 150 เมกะวัตต์ ภายใน 3 ปีข้างหน้า ซึ่งเร็วกว่าแผนเดิมที่บริษัทได้วางเอาไว้
“โรงไฟฟ้าช้างแรก ซึ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลโครงการแรกของบริษัทนั้น สร้างผลประกอบการออกมาได้น่าประทับใจมาก โดยในปี 2557 มีรายได้รวม 258.26 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 78.01 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 180.25 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 81.63 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34 ล้านบาท หรือ 72% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมีกำไรสุทธิ 47.53 ล้านบาท มีกำลังการผลิตทั้งปีไม่ต่ำกว่า 8,000 ชั่วโมง ซึ่งคิดเป็นประสิทธิภาพในการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าที่ 91% ถือได้ว่าเป็นประสิทธิภาพที่ดีมาก จากเป้าหมายเดิมที่ตั้งเป้าไว้ 7,800 ชั่วโมง” นายเชิดศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ บริษัทยังมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นกลุ่มโรงไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดของภาคใต้ เพราะในปัจจุบันบริษัทกำลังเดินหน้าศึกษา และพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าหลายแห่งในภาคใต้ ตลอดจนศึกษาโครงการเพื่อเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าเหล่านั้น โดยปัจจุบันมีโครงการที่อยู่ในขั้นตอนการศึกษา เพื่อเข้าซื้อกิจการประมาณ 3-5 โครงการ ซึ่งเป็นไปตามแผนการดำเนินธุรกิจที่บริษัทได้ตั้งเป้าหมายไว้คือ เข้าซื้อกิจการที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานทั้งใน และต่างประเทศ ส่วนระบบ Feet in Tariff (FiT) จะช่วยสนับสนุนให้ผลประกอบการของบริษัทในอีก 5 โครงการ ซึ่งมีกำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ เติบโตแบบก้าวกระโดดในระยะเวลาสั้น เพราะอัตราการทำกำไรจะเพิ่มสูงขึ้นเกือบเท่ากับ 45-50% ของรายได้ ซึ่งสอดคล้องต่อแผนธุรกิจใหม่ของบริษัทที่จะมีกำลังการผลิต 150-200 เมกะวัตต์ ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า เนื่องจากโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลจะมีระยะเวลาคืนทุนที่เร็วขึ้น หลังได้รับปัจจัยบวกจากการขายไฟในระบบ FiT ซึ่งจะทำให้บริษัทมีเงินทุนหมุนเวียนไปพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง
กรรมการผู้จัดการใหญ่ TPCH กล่าวอีกว่า ในปี 2558 บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโตประมาณ 30-40% จากปีก่อน ส่วนเงินที่ได้รับจากการระดมทุนในช่วงที่ผ่านมา บริษัทจัดสรรเงิน จำนวน 600-700 ล้านบาท ไปลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่บริษัทพัฒนาขึ้นมาแล้ว ได้แก่ โครงการพัทลุงกรีน สตูลกรีน และปัตตานีกรีน ส่วนที่เหลืออีก 300-400 ล้านบาท จะใช้เป็นทุนหมุนเวียนและใช้ในการซื้อกิจการทั้งใน และต่างประเทศ นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทยังอนุมัติให้บริษัทย่อยเข้าทำสัญญาว่าจ้างก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ระหว่างบริษัท พัทลุง กรีน เพาเวอร์ จำกัด กับ บริษัท ไทยโพลีคอนส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPOLY ภายใต้เงินงบประมาณจำนวน 648 ล้านบาท และให้บริษัท สตูล กรีน เพาเวอร์ จำกัด เข้าทำสัญญาว่าจ้างก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ กับ TPOLY ภายใต้วงเงินงบประมาณรวมจำนวน 648 ล้านบาท โดยบริษัทคาดว่าการเข้าทำสัญญาดังกล่าวจะมีขึ้นภายหลังจากที่บริษัทได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นเรียบร้อยแล้ว