“คมนาคม” สั่ง รฟม.ทบทวนรายละเอียดแก้ พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าฯ ใหม่ ขีดกรอบความชัดเจนการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และเสนอตั้ง ก.คลัง และ ก.วิทย์ฯ ร่วมในคณะ กก.กองทุนพัฒนาและวิจัย ขณะที่คมนาคมเตรียมแก้ พ.ร.บ.เวนคืนฯ 2530 เปิดทางหน่วยงานพัฒนาที่ดินได้หากใช้ได้ครบถ้วนสมประโยชน์แล้ว
นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี รองปลัดกระทรวงคมนาคมด้านโครงสร้างพื้นฐาน เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาการแก้ไขพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 ซึ่งทาง รฟม.ได้เสนอแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนของคำจำกัดความจากเดิม “จัดสร้าง ขยาย บูรณะ ซ่อมแซม และบำรุงรักษาระบบรถไฟฟ้า การเดินรถไฟฟ้า การจัดให้มีสถานที่จอดรถ การให้บริการ การอำนวยความสะดวก และการดำเนินกิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการดังกล่าว” โดยเพิ่มว่า จัดให้มีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กังวลว่าอาจมีความหมายกว้างมากไป เห็นควรปรับให้ชัดเจนมากขึ้น เช่น การจัดหาให้มีกิจการอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับกิจการของ รฟม. นอกจากนี้ รฟม.ได้เสนอจัดตั้งกองทุนพัฒนาและการวิจัยขึ้น วัตถุประสงค์เพื่อมีทุนสนับสนุนการวิจัยพัฒนาด้านรถไฟฟ้า ซึ่งจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนจำนวน 5 คน คัดเลือกจาก รฟม.ทั้งหมด โดยที่ประชุมเห็นว่าควรมีผู้แทนกระทรวงการคลังและกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมในคณะกรรมการฯ ด้วยเพื่อให้ข้อเสนอแนะด้านการเงินและด้านเทคโนโลยี
ทั้งนี้ รฟม.จะต้องนำความเห็นทั้งหมดกลับไปทบทวนเพื่อปรับร่างแก้ไข พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าฯ พร้อมทั้งนำเรื่องเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ให้ความเห็นชอบใหม่อีกครั้ง โดยก่อนหน้านี้ เมื่อเดือน ก.ย. 2556 รฟม.เคยเสนอแก้ไข พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าฯ พ.ศ. 2543 มาแล้ว แต่มีการยุบสภาไปก่อนทำให้ต้องเสนอเรื่องกลับมาใหม่ ซึ่งปรากฏว่า รฟม.ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมจากที่เคยเสนอมาเมื่อปี 2556 ให้กระทรวงคมนาคมต้องประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาในส่วนที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อจัดทำร่าง พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าฯ ฉบับแก้ไข พ.ศ. 2558
“กรณีที่เพิ่มคำจำกัดความ ให้มีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับกิจการ รฟม.นั้นไม่ได้หมายความว่า รฟม.จะสามารถนำที่ดินที่เวนคืนมาดำเนินการพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้หรือไม่ได้ เพราะการพัฒนาที่ดินที่เวนคืนมานั้นจะเกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ซึ่งเป็นกฎหมายอีกฉบับที่ต้องใช้เป็นหลักในการเวนคืนที่ดินของหน่วยงาน โดยหลักหน่วยงานเวนคืนที่ดินตามกฎหมายเวนคืน จะต้องนำมาใช้ในกิจการ กรณี รฟม.นำมาใช้ในการก่อสร้าง หากใช้ที่ดินบรรลุวัตถุประสงค์แล้วสามารถนำไปพัฒนาได้ เช่น พื้นที่ในสถานีต่างๆ” นายชาติชายกล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า ในส่วนของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 นั้น กระทรวงคมนาคมได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ศึกษาเพื่อปรับปรุงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานที่เวนคืนที่ดินมาใช้กิจการและสมประโยชน์บรรลุวัตถุประสงค์แล้วสามารถนำที่ดินที่เหลือไปพัฒนาได้ จากเดิมที่ห้ามนำไปพัฒนา โดยจะต้องพิจารณาและระบุรายละเอียดที่จะปรับปรุงอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้เป็นช่องโหว่ ในการเวนคืนที่ดินจำนวนมากเกินความจำเป็นเพราะหวังที่จะให้มีที่ดินเหลือเพื่อไปพัฒนาเชิงพาณิชย์หารายได้ ซึ่งการปรับแก้ พ.ร.บ.เวนคืนฯ นี้จะเกิดประโยชน์ต่อหลายหน่วยงานโดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมที่ไม่สามารถจัดเก็บค่าโดยสารได้เพียงพอที่จะเลี้ยงตัวเองได้ เนื่องจากจะมีช่องทางในการสร้างรายได้จากการพัฒนาที่ดิน แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขใช้เพื่อกิจการสมประโยชน์แล้ว เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) รฟม. กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท(ทช.) เป็นต้น