xs
xsm
sm
md
lg

เจาะไอโซโทป “น้ำ” ติดตามการเปลี่ยนฤดูกาลของไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ก.วิทย์เผยผลวิเคราะห์ไอโซโทปน้ำเพื่อประมวลข้อมูลด้านการจัดการน้ำและภูมิอากาศ พร้อมติดตามการเปลี่ยนแปลงฤดูกาลในไทยเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบจากโลกร้อน และพบน้ำจากแม่น้ำแม่กลองมาช่วยหน่วงน้ำเค็มรุกได้จริง

ในปี 2555 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับมอบหมายให้ดำเนิน “โครงการพัฒนาความร่วมมืองานศึกษาวิเคราะห์ และประมวลข้อมูลด้านการจัดการน้ำ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์และประมวลข้อมูลด้านการจัดการน้ำและภูมิอากาศ การพัฒนาระบบคาดการณ์สภาพอากาศ รวมทั้งพัฒนาบุคลากรด้านการจัดการน้ำ

ภายใต้โครงการดังกล่าว กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. จัดทำฐานข้อมูลไอโซโทปเสถียรความชื้นของอากาศ น้ำฝน น้ำท่า เพื่อศึกษา “วัฏจักรของน้ำในประเทศไทย” โดยเริ่มเก็บข้อมูลตั้งแต่เดือนเม.ย.56

ผลจากการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลไอโซโทปเสถียรในน้ำฝนและความชื้นของอากาศ สามารถอธิบายแหล่งต้นกำเนิดและรูปแบบการเคลื่อนที่ของมวลความชื้นสัมพัทธ์ เพื่อสนับสนุนการวิเคราะห์การเกิดฝนในประเทศไทยได้ ซึ่งฐานข้อมูลไอโซโทปเสถียรความชื้นของอากาศ น้ำฝน น้ำท่า หรือเรียกว่า “ฐานข้อมูลดีเอ็นเอน้ำ” สามารถใช้เป็นข้อมูลสำหรับติดตามการเปลี่ยนฤดูกาลของบริเวณต่างๆ ของประเทศไทย เพื่อศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้ชัดเจนมากขึ้น

นอกจากนี้การวิเคราะห์ไอโซโทปน้ำ ยังได้นำมาใช้ประโยชน์เป็นข้อมูลสนับสนุนการหน่วงน้ำเค็มเมื่อปี 2557 ซึ่งเป็นปีที่น้ำเค็มรุกมากที่สุด น้ำในเขื่อนภูมิพล และ
เขื่อนสิริกิติ์ ก็มีน้อยมาก จำเป็นต้องใช้น้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ ผ่านแม่น้ำแม่กลอง และคลองประปามหาสวัสดิ์ มาช่วยหน่วงน้ำเค็มที่แม่น้ำเจ้าพระยา และจากการวิเคราะห์ส่วนผสมของน้ำ เมื่อวันที่ 29 - 30 พ.ค.57 พบว่า

แม่น้ำเจ้าพระยาที่สามเสนมีส่วนผสมของน้ำจากแม่น้ำแม่กลอง 73.8%, น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา 24.7% และน้ำทะเล 1.5%

ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากเกร็ดมีส่วนผสมของน้ำจากแม่น้ำแม่กลอง 46.9% น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา 52.8% และน้ำทะเล 0.3%

ผลการวิเคราะห์ทำให้แน่ใจว่าน้ำจากแม่น้ำแม่กลองมาช่วยหน่วงน้ำเค็มรุกได้จริง

ปัจจุบัน สสนก. และ สทน. ได้ร่วมกันเก็บข้อมูลไอโซโทปเสถียรในน้ำฝนรายวัน (Rain Events) และในน้ำผิวดินรายสัปดาห์ จากแหล่งผิวดินสำคัญใกล้สถานีตรวจวัดจำนวน 25 สถานี และเก็บข้อมูลไอโซโทปเสถียรในความชื้นของอากาศ ที่ได้จากกระบวนการเก็บด้วยความเย็น (Cold Trap) จากสถานีตรวจวัด จำนวน 8 สถานี ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาขอนแก่น มหาวิทยาลัยราไพพรรณี วิทยาเขตจันทบุรี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพร และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ มีจำนวนตัวอย่างทั้งหมดที่เก็บได้ ประกอบด้วย น้ำฝน 4,226 ตัวอย่าง น้ำท่า 2,941 ตัวอย่าง และข้อมูลความชื้นในอากาศ จำนวน 848 ตัวอย่าง ซึ่งจะได้นำมาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลอุตุนิยมวิทยา อุทกวิทยา น้ำใต้ดิน เพื่ออธิบายวัฏจักรน้ำของประเทศไทยได้ครบทั้งระบบ สนับสนุนการศึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยต่อไป











*******************************


กำลังโหลดความคิดเห็น