“ประจิน” โอดผลงาน 6 เดือนรถไฟฟ้าและสุวรรณภูมิเฟส 2 ยังไม่เข้าเป้า ยอมรับปัญหาการบินเป็นเรื่องใหญ่ ต้องเร่งแก้เรียกเชื่อมั่นคืน ยัน Q3-4/58 ดันงบลงทุนออกไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้าน พร้อมสั่ง ร.ฟ.ท.ทำแผนเปลี่ยนรถจักรดีเซลเป็นรถไฟฟ้าทั่วประเทศภายในปี 75
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แถลงผลงานรอบ 6 เดือนของกระทรวงคมนาคมวันนี้ (22 เม.ย.) ว่า ยังไม่พอใจในผลงาน เพราะมีหลายโครงการที่ล่าช้ากว่าแผน และมีแนวโน้มที่จะชะลอออกไป เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า และการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เฟส 2 เนื่องจากยังมีข้อติดขัดในการดำเนินตามระเบียบขั้นตอน เช่น กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) รวมทั้งการเวนคืนที่ดิน ซึ่งจะเร่งรัดกระบวนการให้กระชับมากขึ้น ขณะที่ยอมรับว่าการกำกับดูแลกรมการบินพลเรือน (บพ.) ต้องเร่งแก้ปัญหาครั้งใหญ่เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้กลับมาอีกครั้ง ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีความเชื่อมั่นต่อกิจการการบินของไทย และเชื่อว่าไทยมีศักยภาพสูงมากในการเป็นศูนย์กลางการบินในอาเซียนและเอเชีย แต่กลับมีความผิดพลาดเกิดขึ้น
ทั้งนี้ มั่นใจว่าในช่วงไตรมาส 3-4 การขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมจะก้าวหน้าและมีรูปธรรมที่ชัดเจนมากขึ้น โดยจะมีงบลงทุนรวมประมาณ 5 แสนล้านบาทที่จะออกประกวดราคา เช่น รถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง, มอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง, รับมอบรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน ในเดือน ก.ค., รับมอบรถไฟฟ้าสายสีม่วงปลายปี 58 และเปิดเดินรถต้นปี 59, คัดเลือกผู้เดินรถสายสีน้ำเงินต่อขยาย สีเขียวเหนือและเขียวใต้, แก้ปัญหาหนี้สินการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) รับมอบรถจักร 20 คัน, ความร่วมมือรถไฟไทย-จีน และเริ่มสำรวจออกแบบความร่วมมือรถไฟไทย-ญี่ปุ่น 2 เส้นทาง วงเงินรวม 1 ล้านล้านบาท จะเห็นความชัดเจนในเดือน ส.ค.
สำหรับโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 นั้น คาดว่าจะได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประมาณเดือน ม.ค.-ก.พ.ที่ผ่านมา แต่งานมีความซับซ้อนมาก จึงต้องทบทวนรายละเอียดใหม่ให้ชัดเจน และเตรียมที่จะเสนอโครงการใน 2 ช่องทางเพื่อความรวดเร็ว คือ ให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เสนอไปยังคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และเสนอมาที่กระทรวงคมนาคม เพื่อพิจารณาร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ส่วนแหล่งเงินลงทุนนั้นมีความชัดเจนแล้วว่าส่วนหนึ่งจะใช้เงินรายได้ของ AOT และอีกส่วนหนึ่งคือการกู้เงินจากสถาบันการเงิน ขณะที่แนวทางการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานคงต้องชะลอออกไปก่อน
พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า ได้ให้นโยบาย ร.ฟ.ท.ทำแผนการนำรถไฟฟ้ามาใช้ทดแทนรถจักรดีเซล โดยตั้งเป้าให้รถไฟดีเซลหมดไปในปี 75 เพื่อลดการใช้พลังงานที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม โดยรถไฟไทย-จีนจะใช้รถไฟฟ้าซึ่งนำเข้าไฟฟ้าจากลาว ซึ่งหากปรับหมดทั้งประเทศจะใช้พลังงานไฟฟ้าสำหรับรถไฟประมาณ 1-2% หรือ 500 เมกะวัตต์ จากการใช้พลังงานไฟฟ้าทั่งประเทศ 26,000 เมกกะวัตต์ โดยจะมีการสร้างแหล่งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสง, พลังงานลมในเส้นทางสายอีสานซึ่งจะไม่กระทบต่อการใช้ไฟฟ้าในประเทศแน่นอน ทั้งนี้จะเริ่มนำร่องโครงการรถไฟเส้นทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ เชื่อมกับมาเลเซีย ใช้รถไฟฟ้าในปี 60