xs
xsm
sm
md
lg

เลื่อนเก็บเงินด่วนสุขสวัสดิ์-บางขุนเทียน “ทล.-กทพ.” เจรจาค่าลงทุนระบบไม่ลงตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมทางหลวงเลื่อนเก็บค่าผ่านทางวงแหวนสุขสวัสดิ์-บางขุนเทียน คาดเริ่มเก็บได้เดือน มิ.ย. จากกำหนดเดิม เม.ย. “ชูศักดิ์” เผยต้องเซ็น MOU กับ กทพ.ก่อน ขณะที่ กทพ.ต้องการระบุรายละเอียดค่าลงทุนพัฒนาระบบไว้ใน MOU ทำให้ต้องใช้เวลาพิสูจน์ตัวเลขก่อน และต้องปรับแก้ระบบแบ่งประเภทรถหน้าด่าน เหตุ 2 หน่วยแยกไม่เหมือนกัน

นายชูศักดิ์ เกวี อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า การเจรจาเพื่อว่าจ้างให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นผู้จัดเก็บค่าผ่านทางถนนวงแหวนรอบนอก กรุงเทพฯ ตอนบางพลี-บางขุนเทียน ช่วงสุขสวัสดิ์-บางขุนเทียน ของกรมทางหลวง ระยะทาง 14.5 กิโลเมตร ซึ่งเป็นทางเชื่อมต่อโครงการทางพิเศษบางพลี-สุขสวัสดิ์ ของ กทพ.อยู่ในขั้นตอนการสรุปรายละเอียดและค่าใช้จ่ายสุดท้ายเพื่อจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจ (MOU) การจัดเก็บค่าผ่านทางและหลักเกณฑ์การจ้าง เป็นต้น จากนั้นจะหารือร่วมกับ 3 หน่วยงาน คือ สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อเห็นชอบในรายละเอียดต่างๆ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อตกลงรายละเอียดร่วมกันได้ และให้ 3 หน่วยงานเห็นชอบแล้วจึงเสนอ ครม. และลงนามใน MOU ร่วมกันต่อไป

ทั้งนี้ กทพ.ได้ประเมินค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทุกด้าน ทั้งค่าบุคลากร ค่าซ่อมบำรุง และค่าลงทุนในการพัฒนาระบบฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ที่กรมทางหลวงต้องจ่ายคืนให้ กทพ. โดย กทพ.ต้องการให้ระบุรายละเอียดค่าลงทุนพัฒนาระบบไว้ใน MOU ด้วย ซึ่งในหลักการกรมทางหลวงไม่ขัดข้องในการรับผิดชอบค่าลงทุนดังกล่าวเพราะได้เห็นชอบในหลักการร่วมกันแล้ว แต่หากจะระบุตัวเลขไว้ใน MOU จะต้องพิสูจน์ค่าลงทุนให้ชัดเจน จึงทำให้ยังสรุปร่าง MOU ไม่ได้ และส่งผลให้ยังไม่สามารถเริ่มจัดเก็บค่าผ่านทางได้ทันในเดือนเมษายนตามแผน และคาดว่าจะเลื่อนไปเป็นเดือนมิถุนายน

โดยในการจัดเก็บค่าผ่านทางร่วมกันนั้น กทพ.จะคิดค่าใช้จ่ายโดยอ้างอิงจากค่าใช้จ่ายในปัจจุบันที่ กทพ.ดำเนินการจัดเก็บอยู่ ซึ่งยังมีรายละเอียดปลีกย่อยในการจัดเก็บค่าผ่านทางที่ไม่ตรงกัน เนื่องจากกรมทางหลวงเป็นหน่วยงานราชการ ส่วน กทพ.เป็นรัฐวิสาหกิจ เช่น กรณีที่ค่าผ่านทางเส้นทางของกรมทางหลวงไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ส่วน กทพ.มี VAT ซึ่งได้ตกลงร่วมกันในการจัดส่งรายได้ค่าผ่านทางให้กรมทางหลวงทั้งจำนวนและจ่ายกลับเป็นค่าจ้างให้ กทพ. กรณีประเภทรถ โดยกรมทางหลวง แบ่งรถเป็น 4 ล้อ, 6 ล้อ และมากกว่า 6 ล้อ ส่วน กทพ. แบ่งเป็น รถ 4 ล้อ, 6-10 ล้อ และมากกว่า 10 ล้อ ซึ่งในระยะแรก กทพ.จะปรับปรุงแก้ไขปุ่มกด แบ่งแยกประเภทรถหน้าด่าน และศูนย์ควบคุมให้ตรงกับของกรมทางหลวง ส่วนการปรับปรุงระบบให้ตรงกันถาวรนั้นจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ซึ่งปัญหาดังกล่าวจะไม่กระทบต่อการจัดเก็บหน้าด่านแต่อย่างใด

ค่าผ่านทางที่จะจัดเก็บ สำหรับรถยนต์ไม่เกิน 4 ล้อ เสียในอัตรา 15 บาท, รถยนต์เกิน 4 ล้อ แต่ไม่เกิน 6 ล้อ เสียในอัตรา 25 บาท และรถยนต์เกิน 6 ล้อ เสียในอัตรา 35 บาท โดยประเมินช่วงแรกที่จะเริ่มจัดเก็บค่าผ่านทาง คาดว่าปริมาณจราจรลดลงประมาณ 30% จากนั้นจะค่อยๆ กลับมาสู่ภาวะปกติ
กำลังโหลดความคิดเห็น