xs
xsm
sm
md
lg

เก๋ง-ปิกอัพส่วนบุคคลไม่กระทบ! ขนส่งฯยันกม.แก้ไขใหม่จดทะเบียนต้องมีที่จอด-โชว์สถานะ บังคับรถเกิน 2,200 กก.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมการขนส่งฯแจง แก้ไขกฎหมายจดทะเบียนรถปิกอัพใหม่ มีผลบังคับใช้ 23 มี.ค.นี้ ไม่กระทบเก๋ง-ปิกอัพส่วนบุคคลที่น้ำหนักไม่เกิน 2,200 กิโลกรัมและมีไว้เพื่อใช้ส่วนตัว ยันยื่นจดทะเบียนรถตามพ.ร.บ.รถยนต์ได้ปกติ แต่หากน้ำหนักเกิน 2,200 กิโลกรัม ต้องมีหลักฐานเพิ่มเติมด้านการเสียภาษี หลักฐานการเงิน หนังสือแสดงถึงความจำเป็นในการใช้รถขนาดใหญ่ พร้อมที่จอดรถตามที่ราชการกำหนด

นายสุชาติ กลิ่นสุวรรณ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ชบ.) เปิดเผยว่า กรณีที่มีการประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2557 และพระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ 17 ) พ.ศ. 2557 โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2558 เป็นต้นไปนั้น ในส่วนของรถบรรทุกส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 1,600 กิโลกรัมแต่ไม่เกิน 2,200 กิโลกรัม ที่เป็นรถที่ใช้ส่วนบุคคล ไม่ได้ใช้เพื่อการประกอบการขนส่ง ยังสามารถยื่นขอจดทะเบียนตามพ.ร.บ.รถยนต์ จากเดิมที่ต้องยื่นจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกและต้องขออนุญาตประกอบการขนส่งด้วย ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ที่มีการพัฒนาจนเป็นเหตุให้รถยนต์ส่วนบุคคลมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายว่าด้วยรถยนต์กำหนดไว้เดิมไม่เกิน 1,600 กิโลกรัม อีกทั้งเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่มีรถดังกล่าวโดยที่ไม่ได้มีไว้เพื่อการประกอบการขนส่ง

ส่วนรถยนต์นั่งและรถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกิน 2,200 กิโลกรัม ซึ่งเป็นรถขนาดใหญ่และไม่ได้มีไว้เพื่อการประกอบการขนส่ง หากจะจดทะเบียนเป็นรถตามพ.ร.บ.รถยนต์ ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขตามที่ราชการกำหนด ซึ่งผู้ขอต้องสามารถพิสูจน์ให้ได้ว่าจะใช้รถดังกล่าวเพื่อการส่วนตัวโดยแท้จริง โดยให้แนบหลักฐานเพิ่มเติม ได้แก่ หลักฐานการแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาย้อนหลัง 2 ปี, หลักฐานแสดงฐานะการเงินที่มั่นคง, ความจำเป็นต้องใช้รถขนาดใหญ่เพื่อการส่วนตัว, ภาพถ่ายตัวรถพร้อมรายละเอียด ขนาด สัดส่วน และน้ำหนักของรถจากบริษัทผู้ผลิต, หลักฐานแสดงสถานที่จอดรถ ได้แก่ ภาพถ่ายสถานที่จอดรถที่มีเนื้อที่จอดรถไม่น้อยกว่า 35 ตารางเมตร, แผนที่แสดงที่จอดรถ และหนังสือรับรองการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลตามที่ทางราชการกำหนด โดยเจ้าหน้าที่จะมีการออกตรวจสถานที่จอดรถและหลักฐานต่างๆตามที่กำหนด เพื่อป้องกันการนำรถขนาดใหญ่ เช่น รถบัส รถสิบล้อ มาขอจดทะเบียนเป็นรถตามพ.ร.บ.รถยนต์ แล้วนำไปใช้ประกอบการขนส่งผิดกฎหมาย

นายสุชาติกล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายฉบับดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบใดๆต่อการจดทะเบียนรถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน (รถเก๋ง) หรือรถบรรทุกส่วนบุคคล (รถปิกอัพ) แต่อย่างใดทั้งสิ้น โดยดำเนินการเช่นเดิมตามที่เคยปฏิบัติมา โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มพัฒนาระบบทะเบียนและภาษีรถ สำนักมาตรฐานงานทะเบียนและภาษีรถ หมายเลขโทรศัพท์ 0-2271-8703 หรือสำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-5 และสำนักงานขนส่งจังหวัดทุกจังหวัด

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ หลังจากที่กฎหมายบังคับใช้ ได้มีการพูดถึงอย่างมากในโลกโซเชียลว่า จะทำให้เจ้าของรถยนต์นั่งบางรุ่นต้องยื่นเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมมากมาย เรื่องนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การขอจดทะเบียนรถยนต์ส่วนบุคคลตามระเบียบกรมขนส่งทางบกฉบับใหม่ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

1.รถยนต์นั่ง ที่มีที่นั่งไม่เกิน 7 ที่นั่ง หมายถึงรถยนต์นั่งไม่ว่าจะเป็น เก๋ง เอสยูวี หรือพีพีวี ที่มีที่นั่งไม่เกิน 7 ที่นั่ง

2. รถยนต์นั่ง ที่มีที่นั่งเกิน 7 ที่นั่ง แต่ไม่เกิน 12 ที่นั่ง มีน้ำหนักรถไม่เกิน 2,200 กิโลกรัม หรือรถยนต์บรรทุกที่มีน้ำหนักรถไม่เกิน 2,200 กิโลกรัม ได้แก่ รถเอ็มพีวีและรถตู้ที่มีที่นั่งไม่เกิน 12 ที่นั่ง รวมถึงรถปิกอัพและรถบรรทุกที่มีน้ำหนักไม่เกิน 2,200 กิโลกรัม ซึ่งมิได้ใช้ประกอบการขนส่งเพื่อสินจ้าง

ทั้งสองกลุ่มดังกล่าวสามารถจดทะเบียนเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ได้เลย

นอกจากนี้ตามระเบียบใหม่ ยังเปิดโอกาสให้กลุ่ม 3. รถยนต์นั่ง ที่มีที่นั่งเกิน 7 ที่นั่ง แต่ไม่เกิน 12 ที่นั่ง มีน้ำหนักรถเกิน 2,200 กิโลกรัม หรือรถยนต์นั่ง ที่มีที่นั่งเกิน 12 ที่นั่ง มีน้ำหนักรถเกิน 2,200 กิโลกรัม หรือรถยนต์บรรทุก ที่มีน้ำหนักรถเกิน 2,200 กิโลกรัม ซึ่งมิได้ใช้ประกอบการขนส่งตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก โดยรถในกลุ่มนี้หมายถึง รถตู้และรถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกิน 2,200 กิโลกรัม (น้ำหนักบรรทุกต้องไม่เกิน 3,500 กิโลกรัม) สามารถขอจดทะเบียนเป็นรถยนต์ส่วนบุคคลได้ แต่เจ้าของรถต้องยื่นเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม เพื่อประกอบการพิจารณา ได้แก่ หลักฐานแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาย้อนหลัง 2 ปี, หลักฐานแสดงฐานะการเงินที่มั่นคง, หนังสือชี้แจงเหตุความจำเป็นในการใช้รถ, ภาพถ่ายตัวรถ พร้อมรายละเอียด ขนาด สัดส่วน และน้ำหนักของรถจากบริษัทผู้ผลิต และหลักฐานแสดงสถานที่จอดรถ (ในส่วนนี้ยังมีรายละเอียดหลักฐานยื่นประกอบด้วย) และหนังสือรับรองการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลตามแบบที่กำหนดไว้

ทั้งนี้เกี่ยวกับการกำหนดระเบียบดังกล่าว มีรายงานข่าวว่ากรมการขนส่งต้องการควบคุมบรรดารถตู้เถื่อน ที่มีการจดทะเบียนเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล แต่ถูกนำมาใช้งานเพื่อการขนส่ง ซึ่งมีเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน
กำลังโหลดความคิดเห็น