xs
xsm
sm
md
lg

ปั้นครูสอนขับรถพยาบาล สกัดรถฉุกเฉินพลิกคว่ำ จัดแข่งแรลลีหามือวางอันดับ 1

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สพฉ. เดินหน้าปั้นครูสอนขับรถพยาบาล เร่งจัดอบรมทั่วประเทศ พร้อมเฟ้นฝีมือดีเข้าร่วมแข่งขันแรลลีขับรถพยาบาลแบบปลอดภัย 16 สถานี จัดอันดับมือวางการขับรถพยาบาล พร้อมส่งเสริมให้เป็นครู จ่อขยายในกลุ่มอาสาสมัครกู้ภัย จัดแข่งขันครั้งแรก 13 ก.พ. นี้ ย้ำต้องพัฒนารถและระบบควบคู่

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวถึงการจัดงานแข่งขันการขับรถพยาบาลปลอดภัยระดับชาติ (Ambulance Safety Rally) ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยจะจัดในวันที่ 13 ก.พ. นี้ ที่ศูนย์สอนขับรถบรรทุกขนาดใหญ่ กรมการขนส่งทางบก อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ตั้งแต่เวลา 09.00 - 15.00 น. ว่า การจัดงานดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการขับรถพยาบาลอย่างปลอดภัยและระมัดระวัง ในส่วนเฉพาะของการพัฒนาบุคลากรเท่านั้น ซึ่งการดำเนินงานทั้งหมดจะมี 3 ขั้นตอน คือ 1. การฝึกอบรมผู้ขับรถพยาบาลฉุกเฉิน ซึ่งมีการดำเนินการมานานแล้ว อบรมคนขับรถพยาบาลของโรงพยาบาลรัฐได้ประมาณ 700 - 800 คนทั่วประเทศ ซึ่งหลักสูตรในการสอนเป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สพฉ. บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) สำหรับการออกใบขับขี่ผู้ขับรถพยาบาลขณะนี้อยู่ระหว่างการออกประกาศของกรมขนส่งทางบก เพื่อให้ผู้ขับขี่รถเฉพาะ เช่น รถพยาบาล รถนักเรียน ต้องมีการทดสอบโดยเฉพาะ

นพ.อนุชา กล่าวอีกว่า 2. การจัดแข่งขันขับรถพยาบาลปลอดภัย ในขั้นตอนนี้เป็นการนำผู้ขับขี่รถพยาบาลที่มีผ่านการอบรมและฝีมือดีเยี่ยมอยู่แล้วมาทดสอบแข่งขัน ซึ่งการแข่งขันจะแบ่งเป็นสถานีเหมือนการเล่นแรลลี เช่น สถานีทดสอบการแซง การเข้าโค้ง การถือพวงมาลัย การคาดเข็มขัดนิรภัย การเข้าถึงผู้โดยสาร การตรวจสอบสภาพรถ เป็นต้น ซึ่งมีด้วยกันทั้งหมด 16 สถานี และจะมีการให้คะแนนเพื่อจัดอันดับว่าใครเป็นมือวางที่ดีที่สุดอันดับ 1 2 3 ซึ่งในวันที่ 13 ก.พ. นี้ จะมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 10 ทีม โดยแข่งขันที่ศูนย์สอนขับรถบรรทุกขนาดใหญ่ จ.ปทุมธานี เนื่องจากเป็นสนามทดสอบขนาดใหญ่ที่ได้มาตรฐาน และ 3. หลังจากได้ผู้ขับขี่ฝีมือดีก็จะนำมาปั้นเป็นครูฝึกสอนในการขับขี่รถพยาบาลอย่างปลอดภัยต่อไป

กลไกนี้เคยใช้กับคนขับรถปูนซีเมนต์มาแล้ว จึงนำมาปรับใช้กับการเป็นครูขับรถพยาบาล ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดก็เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งปีๆ หนึ่งพบว่า มีรถพยาบาลเกิดอุบัติเหตุมากถึง 50 - 60 ครั้ง ทั้งนี้ ในอนาคตจะมีการขยายการอบรมและจัดแข่งขันเช่นนี้ไปยังกลุ่มคนขับรถกู้ภัยของมูลนิธิต่างๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม นอกจากการพัฒนาในเรื่องของบุคลากรแล้วยังต้องพัฒนาในเรื่องของรถและระบบการแพทย์ฉุกเฉินด้วย นั่นคือต้องมีการวิจัยรถพยาบาลไทยว่าต้องมีการปรับปรุงหรือเสริมสมรรถนะอะไรอีกหรือไม่ เช่น การปรับที่นั่ง การยึดโยงของสิ่งของภายในรถ เป็นต้น ส่วนระบบก็จะมีการติดตามการขับรถพยาบาลไม่ให้ขับรถเร็วเกินกำหนด” เลขาธิการ สพฉ. กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น