xs
xsm
sm
md
lg

DHAS จัดทัพแตกธุรกิจ รุก “ลอจิสติกส์-อีคอมเมิร์ซ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“สุหฤท สยามวาลา” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดี เอช เอ สยามวาลา จำกัด
ASTVผู้จัดการรายวัน - “ดี เอช เอ สยามวาลา” เดินหน้าสู่ปีที่ 109 ชูแผน “9 รอบที่เปลี่ยน” สร้างฐานรายได้เพิ่มจากธุรกิจใหม่ ทุ่มทุนสร้าง 700 ล้านบาทผุดศูนย์กระจายสินค้าแห่งใหม่ด้วยเทคโนโลยีทันสมัยที่สุดในไทย หวังก้าวเป็น “ลอจิสติกส์ ฮับ” ให้บริการผู้ประกอบการทุกประเภทก่อนเปิดตลาด CLMV พร้อมเดินหน้ารุกอี-คอมเมิร์ซเต็มตัวในปี 59

นายสุหฤท สยามวาลา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดี เอช เอ สยามวาลา จำกัด ผู้นำธุรกิจเครื่องเขียนและเครื่องใช้สำนักงานในประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทฯ มีสินค้าประมาณ 7-8 พันเอสเคยู แบ่งเป็นประเภทแฟ้ม กระดาษ เครื่องเขียน เครื่องใช้สำนักงาน สีและอุปกรณ์ศิลปะ และอื่นๆ ภายใต้ 6 แบรนด์หลัก ได้แก่ ตราช้าง, QUANTUM, MASTER ART, Renaissance, Illumix by Elephant และ elfen สำหรับการส่งออก โดยยังมีการนำเข้าปากกาคุณภาพระดับไฮเอนด์อีกหลายแบรนด์ เช่น CROSS, ARTIFACT, Franklin Covey เป็นต้น

สินค้าทั้งหมดแบ่งเป็นการผลิตเองและให้ผู้รับช่วงการผลิต (OEM) จากต่างประเทศในสัดส่วนเท่ากันคือ 50:50 โดยมีการส่งออกไปยัง 50 ประเทศทั่วโลกด้วยสัดส่วน 30% ขณะที่รายได้ส่วนใหญ่ 70% เป็นการจำหน่ายในประเทศ ผ่านช่องทางค้าปลีกทั่วไป 70% และโมเดิร์นเทรด 30% ส่วนในอนาคตอันใกล้มีแผนที่จะปรับสัดส่วนการจำหน่ายในประเทศและส่งออกให้เท่ากันคือ 50:50 โดยจะเน้นทำตลาดกลุ่มประเทศ CLMV คือ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนามเป็นหลัก รวมถึงขยายตลาดสหรัฐอเมริกาเพิ่มมากขึ้น

*** ชูแผนดันรายได้โต 3-5% จาก 3 พันล้าน ***
นายสุหฤทกล่าวอีกว่า แม้ปัจจุบันแฟ้ม “ตราช้าง” ถือเป็นแบรนด์ระดับโลกที่ได้รับการยอมรับถึงเรื่องคุณภาพจากทั่วโลก มีกำลังการผลิตประมาณ 5-7 ล้านเล่มต่อปี ติดอันดับ 1 ใน 3 ของเอเชีย แต่ถือเป็นสินค้าที่ตลาดคงที่และขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจของแต่ละประเทศว่าแต่ละปีจะเอื้อต่อการเกิดธุรกิจใหม่มากน้อยเพียงใด ขณะเดียวกัน สินค้ากลุ่มเครื่องเขียนและเครื่องใช้สำนักงานยังจะต้องมีการปรับตัวในด้านการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสอดรับกับเทคโนโลยีใหม่ๆ มากขึ้น เช่น ปากกาที่ใช้กับแท็บแล็ต เป็นต้น

“ในปี 2557 บริษัทฯ มียอดขายประมาณ 3 พันล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ หรือมีอัตราการเติบโตติดลบ 3% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่คาดว่าในปี 2558 จะกลับมามีอัตราเติบโตขึ้น 3-5% เนื่องจากสถานการณ์ด้านต่างๆ เริ่มมีความคลี่คลายมากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ในปี 2558 บริษัทฯ มีแผนเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ประมาณ 600-700 เอสเคยู แบ่งเป็นเครื่องเขียนและเครื่องใช้สำนักงานแบรนด์ต่างๆ 500 เอสเคยู และผลิตภัณฑ์ประเภท Gadget อื่นๆ เช่น หูฟัง ปลั๊กพ่วงสายไฟ และอื่นๆ ภายใต้แบรนด์ใหม่คือ “ILLUMIX by Elephant” ประมาณ 200-300 เอสเคยู โดยจะใช้งบประมาณ 200 ล้านบาทในการกระตุ้นตลาดครอบคลุม 360 องศา ทั้งทางด้านออนไลน์ การจัดกิจกรรมร่วมกับร้านค้า ณ จุดขาย รวมถึงภาพยนตร์โฆษณา และอื่นๆ

“หนึ่งในแผนการตลาดที่กำลังดำเนินงานในขณะนี้คือการใช้ Music Marketing สื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ โดยร่วมกับศิลปินในการแต่งเพลงและจัดทำ Music VDO เพลง “เก็บ” ซึ่งผมรับหน้าที่เป็นผู้กำกับฯ เพื่อสื่อสารถึงการเก็บความรัก เก็บอดีต และเก็บเอกสาร โดยจะเผยแพร่ผ่านทางสังคมออนไลน์และเคเบิลทีวี รวมถึงทีวีดาวเทียมในเร็วๆ นี้ ส่วนภาพยนตร์โฆษณาก็อาจจะมีการเผยแพร่ผ่านตัวผมในฐานะพรีเซ็นเตอร์ด้วยเช่นกัน” นายสุหฤทกล่าวเสริม

*** ยุคที่สี่ “คลื่นลูกใหม่” ดี เอช เอ สยามวาลา ***
นายสุหฤทกล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2558 ถือเป็นโอกาสครบรอบ 108 ปีของการดำเนินงานบริษัทฯ บริษัทฯ จึงกำหนดกลยุทธ์การดำเนินงานภายใต้พันธกิจ “ฟาสต์ & ฟิวเจอร์ 9” (Fast & Future 9) โดยเน้นการพัฒนาเพื่อเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ สู่การดำเนินงานในอนาคตตามนโยบาย “9 รอบที่เปลี่ยน” เพื่อเป็นการขยายฐานรายได้เพิ่มเติมจากธุรกิจใหม่ๆ

ปัจจุบันถือเป็นยุคที่สี่คือ “คลื่นลูกใหม่” ของ “ดี เอช เอ สยามวาลา” โดยจะเน้นนโยบายการขยายธุรกิจใหม่จากฐานธุรกิจที่มีอยู่ หลังจากยุคที่หนึ่งคือการนำเข้าสินค้าหลากหลายประเภทจากต่างประเทศมาจำหน่ายในประเทศไทย จนถึงยุคที่สองคือการเริ่มผลิตแฟ้ม, เครื่องเขียน และเครื่องใช้สำนักงานประเภทต่างๆ ก่อนเข้าสู่ยุคที่สามคือการสร้างแบรนด์ พร้อมพัฒนาสินค้าให้เข้ากับยุคสมัย และเน้นทำการตลาดอย่างจริงจัง

“ผมต้องการให้ ดี เอช เอ สยามวาลา ในยุคที่สี่กลับมาเหมือนอายุ 20 อีกครั้ง จึงมีการจัดแคมเปญสะบัดคราบเพื่อกระตุ้นให้พนักงานปรับเปลี่ยนตัวเองให้มีความทันสมัยมากขึ้นเพื่อก้าวให้ทันตามความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ โดยจับเทรนด์และสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในตลาดได้อย่างรวดเร็ว และพัฒนาองค์กรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในทุกๆ ด้าน ทั้งการพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์ลูกค้าและการพัฒนาระบบต่างๆ ภายในองค์กร”

*** ย้ายโรงงาน-คลังสินค้า เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ***
นายสุหฤทกล่าวอีกว่า การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้คือการย้ายฐานการผลิตและการจัดเก็บสินค้าในพื้นที่ต่างๆ ให้มาอยู่ในพื้นที่เดียวกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความสะดวกในการบริหารการจัดการ โดยในส่วนของโรงงานผลิตสมุด แฟ้ม ชิ้นส่วนพลาสติก และอื่นๆ ในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร จ.ปทุมธานี จะย้ายมายังนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา บนพื้นที่ 30 ไร่ โดยมีแผนที่จะใช้พื้นที่โรงงานเดิมขยายไลน์ธุรกิจผลิตสินค้าประเภทอื่นๆ ที่ใช้ชิ้นส่วนพลาสติกเป็นส่วนประกอบ โดยอาจดำเนินงานในลักษณะผลิตเอง หรือเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายอื่นเช่าพื้นที่

“ขณะเดียวกันยังจะย้ายคลังสินค้าในพื้นที่ อ.กิ่งแก้ว จ.สมุทรปราการ และนิคมฯ นวนคร มายังศูนย์กระจายสินค้าแห่งใหม่ที่ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อรองรับแผนงานในอนาคตคือการก้าวเข้าสู่ธุรกิจลอจิสติกส์ทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม”

นายสุหฤทกล่าวด้วยว่า บริษัทฯ ไม่มีนโยบายในการนำบริษัทฯ เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่จะเน้นการบริหารงานในลักษณะ Business Unit เป็นหลัก

*** มุ่งสู่ธุรกิจ “ลอจิสติกส์ / อี-คอมเมิร์ซ ***
นายสุหฤทกล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯ ใช้งบลงทุนกว่า 700 ล้านบาทในการก่อสร้างศูนย์กระจายสินค้าแห่งใหม่บนพื้นที่ 80 ไร่ใน อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งถือเป็นศูนย์กระจายสินค้าที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย โดยมีการใช้เทคโนโลยีระบบออโตเมติกที่สมบูรณ์แบบจากประเทศญี่ปุ่นถึง 3 ระบบ ได้แก่ Double Deep, Singel Deep และ Mini Load

“ขณะนี้เรามีการจัดทีมงานใหม่เพื่อศึกษาและจัดระบบด้านลอจิสติกส์โดยเฉพาะ โดยมีเป้าหมายที่จะดำเนินงานในส่วนของสินค้าสยามวาลาให้แล้วเสร็จและสมบูรณ์ภายใน 4-6 เดือน ก่อนที่จะเริ่มให้บริการผู้ประกอบการรายอื่นๆ ภายในช่วงครึ่งหลังปี 2558 ขณะเดียวกันยังมีการศึกษาและจัดระบบด้านธุรกิจอี-คอมเมิร์ซไปพร้อมๆ กันด้วย เนื่องจากเห็นว่ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่องถึงปีละประมาณ 10-30% โดยคาดว่าจะสามารถก้าวเข้าสู่ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซได้เต็มตัวภายในช่วงต้นปี 2559”

นายสุหฤทกล่าวในตอนท้ายว่า บริษัทฯ มุ่งหวังที่จะให้ศูนย์กระจายสินค้าแห่งนี้เป็น “ลอจิสติกส์ ฮับ” ในการทำหน้าที่จัดเก็บและกระจายสินค้าทุกประเภทให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่มีสินค้าตั้งแต่ขนาดเล็กๆ จนถึงขนาดใหญ่ โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือผู้ประกอบการด้านอี-คอมเมิร์ซและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยคาดว่าภายในปี 2558 จะสามารถทำรายได้ประมาณ 5% ของรายได้รวม หรืออย่างน้อยประมาณ 100 ล้านบาท พร้อมกำหนดระยะเวลาคืนทุนภายใน 5 ปี




กำลังโหลดความคิดเห็น