“โออิชิ” ตอกย้ำบัลลังก์ชาเขียว ซุ่มลุยชาสมุนไพรสร้างแกร่งครองตลาดรวม น้อมรับภาษีชาเขียว เตรียมปรับแผนรับมือ มองใหญ่ปักธงสู่ประเทศเพื่อนบ้าน เดินหน้าไต่ขึ้นแท่นท็อปทรีในเวียดนามใน 3 ปี พร้อมจ่อเพิ่มฐานผลิตในเวียดนาม สู่วิชันปี 2020
นายมารุต บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานในปี 2558 นี้ บริษัทตั้งเป้ารายได้รวมไว้ที่ 15,500 ล้านบาท เติบโต 25% จากปีก่อนโต 2% โดยปีนี้มองว่ากลุ่มเครื่องดื่มจะกลับมาเติบโตได้ 21% คิดเป็นมูลค่ากว่า 7,000 ล้านบาท จากการมุ่งพัฒนาสินค้าร่วมกับทางเสริมสุข และ F&N เน้นนวัตกรรมและตลาดอาเซียน จากปีก่อนติดลบ 7% เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจการเมืองทำให้ตลาดชาเขียวเติบโตลดลง ส่วนกลุ่มอาหารปีนี้น่าจะเติบโตสูงถึง 29% คิดเป็นมูลค่ากว่า 8,500 ล้านบาท จากปีก่อนโต 10% เนื่องจากปีนี้กลุ่มอาหารจะมีการขยายสาขา และไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งเพิ่ม
อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของทางกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มจะดำเนินไปตามวิชัน2020 ได้แก่ มุ่งสร้างรายได้ให้การเติบโตขึ้นเป็น 2 เท่าจากปี 14 และกำไรเพิ่มขึ้น 2เท่า สร้างความหลากหลายในผลิตภัณฑ์ โดยจะมีการพัฒนาสินค้าใหม่อย่างต่อเนื่อง ทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยในกลุ่มอาหารโออิชิจะไม่หนีความเป็นญี่ปุ่น ส่วนเครื่องดื่ม ชาเขียวยังเป็นตัวยืนหลัก พร้อมเดินหน้ารุกตลาดต่างประเทศ ทั้งในพม่า เวียดนาม เป็นต้น
นายมารุตกล่าวด้วยว่า ตามที่ภาครัฐจะนำกฎหมายภาษีชาเขียวมาใช้นั้น ทางบริษัทพร้อมน้อมรับนโยบาย แต่อยากให้พิจารณาให้ดีว่านำมาใช้แล้วจะส่งผลเสียและผลดีอย่างไร ใครจะได้รับผลกระทบบ้าง และหากนำมาใช้จริงคารจะค่อยเป็นค่อนไป โดยทางโออิชิเองเตรียมพร้อมรับนโยบายดังกล่าวไว้บ้างแล้ว เบื้องต้นจะต้องมีการปรับลดต้นทุนการบริหารจัดการต่างๆ ให้ดีขึ้น เพื่อจะไม่ผลักภาระไปยังผู้บริโภค หรือให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
นางเจษฎากร โคชส์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจเครื่องดื่ม บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า แผนการดำเนินงานของกลุ่มเครื่องดื่ม จะเน้นสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ นวัตกรรมใหม่ ทำตลาดทั้งในประเทศและส่งออก โดยการลงทุนในตลาดต่างประเทศได้เริ่มไปแล้วในสิงคโปร์ และมาเลเซีย ผ่านทาง F&N โดยในมาเลเซียมีการตั้งโรงงานผลิตป้อนตลาดในมาเลเซียด้วย ส่วนในปีนี้จะเน้นตลาดในเขมร ลาว และพม่ามากขึ้น โดยการทำตลาดเอง
ส่วนในเวียดนาม กำลังศึกษาความเป็นไปได้ เพราะเป็นตลาดที่น่าสนใจอย่างมาก เนื่องจากประชากรทั้งประเทศนิยมดื่มชา จึงมีแผนที่จะตั้งโรงงานผลิตในเวียดนามด้วย โดยอาจจะเป็นการจอยต์เวนเจอร์ร่วมกับ BJC ซึ่งขณะนี้เป็นตัวแทนจำหน่ายในเวียดนามให้ ทั้งนี้ ตั้งเป้าภายใน 3 ปีจะขึ้นท็อปทรีตลาดชาเขียวในเวียดนาม แล้วจึงเริ่มแผนลงทุนสร้างโรงงานการผลิตเป็นลำดับต่อไป
สำหรับตลาดในประเทศนั้นจะลดจำนวนโปรโมชันลง เน้นสร้างแบรนด์และตราสินค้ามากขึ้น สร้างการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงปรับแผนพัฒนากลุ่มเครื่องดื่มชาผสมสมุนไพรใหม่ จากปัจจุบันมูลค่ารวมตลาดชาเขียวอยู่ที่ 15,000 ล้านบาท ปีนี้น่าจะโต 10% ล่าสุดจากผลสำรวจของทางนีลเส็น คอมปะนี ในปี 2557 ที่ผ่านมา (ม.ค.-พ.ย) ตลาดรวมชาเขียว+ชาผสมสมุนไพร พบว่าอิชิตันมีแชร์ 44% โออิชิมีแชร์ 38% แต่เฉพาะตลาดชาเขียวแล้ว โออิชิมีแชร์ 45% และอิชิตันมีแชร์ 32%
ส่งผลให้ปีนี้บริษัทจะเน้นในส่วนชาสมุนไพรมากขึ้น คาดว่าจะเปิดตัวภายในกลางปีนี้ 2 รสชาติ ทั้งที่มีอยู่แล้ว และนำเข้าจากต่างประเทศ จากเดิมสัดส่วนชาผสมสมุนไพรทำรายได้ที่ 5% ของชาเขียวทั้งหมด ปีนี้จะเพิ่มสัดส่วนได้อีกมาก เนื่องจากตลาดชาผสมสมุนไพรมีอัตราการเติบโตสูง
ด้านนายไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวต่อว่า แผนการดำเนินงานของกลุ่มอาหารต้องการที่จะเป็นเอ็กซ์เพิร์ตเจแปนนิสฟูดภายในปี 2020 โดยภายในปีนี้จะต้องก้าวขึ้นเป็นคิงออฟเจแปนนิสฟูดให้ได้เสียก่อน ภายใต้การดำเนินงาน 3 ข้อหลัก คือ 1. ขยายสาขาต่อเนื่อง เน้นชาบูชิเป็นหลัก เพราะเป็นแบรนด์ที่สร้างรายได้ดีที่สุด 2. เพิ่มไลน์แพกฟูด และ 3. ต่อยอดธุรกิจใหม่
โดยในส่วนการขยายสาขา ปีนี้จะขยายเพิ่มอีก 40 สาขา ปรับปรุงใหม่ 6 สาขา จากเดิมรวมมี 225 สาขา ภายใต้งบลงทุนกว่า 600 ล้านบาท ส่วนตลาดในต่างประเทศเตรียมขยายสาขาในลาวและกัมพูชา จากเดิมมีอยู่ 3 สาขา ในย่างกุ้ง 2 สาขา และ 1 สาขาในมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า โดยตั้งเป้าขยายสาขาในต่างประเทศแถบเออีซีอย่างน้อย 10 สาขาภายใน 5 ปีนี้ ภายใต้งบลงทุน 200 ล้านบาท ด้วยแบรนด์ชาบูชิ
ส่วนแพกฟูด หรือตลาดอาหารพร้อมรับประทาน เชื่อว่าจะเติบโตปีละ 15-20% จึงมุ่งพัฒนาสินค้าขึ้นมาตอบโจทย์ เช่น โออิชิ เกี๊ยวซ่า, โออิชิ แซนด์วิช ตรา เบรคแอนด์ฟาสต์ ที่จะเริ่มทำตลาดในรูปแบบคีออสก์ในปีนี้ เป็นต้น มั่นใจว่าจะส่งผลให้ภาพรวมรายได้กลุ่มอาหารเติบโตกว่า 29% คิดเป็นมูลค่า 8,500 ล้านบาท