xs
xsm
sm
md
lg

“โออิชิ” ลุยโฟรเซนส์-แช่เย็น เจาะช่องทาง “แฟมิลี่-เทสโก้”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ไพศาล อ่าวสถาพร” รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
“โออิชิ” สานต่อนโยบาย “ไทยเบฟ” ปั้นรายได้กลุ่มอาหาร 1.3 หมื่นล้านบาทในปี 2561 ล่าสุดครัวกลางเปิดบริการแล้วหลังทุ่ม 1 พันล้านบาทลงทุนสร้างศักยภาพรองรับการเติบโต

นายไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามนโยบายของบริษัทแม่คือ “กลุ่มไทยเบฟ” กำหนดว่า “โออิชิ” จะต้องมีรายได้ในกลุ่มของอาหารประมาณ 13,000 ล้านบาทภายในปี 2561 จากปัจจุบันที่มีรายได้กลุ่มอาหารประมาณ 8,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 1,000 ล้านบาท และลงทุนเฉลี่ย 600-700 ล้านบาทต่อปี จึงต้องมีแผนการลงทุน การตลาด การขยาธุรกิจต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย โดยเฉพาะการขยายสาขาเฉลี่ย 50 สาขาต่อปีรวมกันทุกแบรนด์ โดยแบรนด์ที่ทำรายได้หลักคือ “ชาบูชิ”

ล่าสุดลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาทเพื่อก่อสร้างครัวกลางอาหาร โดยเฉพาะแยกออกจากครัวกลางโรงงานผลิตเครื่องดื่มโออิชิมาตั้งใหม่ที่ จ.ชลบุรี พื้นที่รวม 195 ไร่ ใช้เพียง 43 ไร่ ซึ่งจะทำให้มีกำลังการผลิต เกี๊ยวซ่า 14 ล้านชิ้นต่อเดือน แซนด์วิช 2.4 ล้านชิ้นต่อเดือน เบเกอรี่ 14 ล้านชิ้นต่อเดือน ตลอดจนวัตถุดิบและสินค้าที่ส่งให้ร้านอาหารญี่ปุ่นในเครือโออิชิ 1,579 ตันต่อเดือน ซึ่งขณะนี้เริ่มเดินเครื่องผลิตแล้วเมื่อปลายปีที่ผ่านมาประมาณ 30% ทำให้ผลิตอาหารได้มากกว่าปัจจุบัน 2 เท่า และพร้อมที่จะรับผลิตแบบโออีเอ็มด้วย โดยจะรุกตลาดอาหารแช่เย็นและโฟรเซนส์ด้วย เช่น อาหารแช่เย็นแบรนด์ “เทรนดี้” ทดลองในร้านอาหารโออิชิ โดยจะเจาะช่องทาง “เทสโก้ โลตัส” และ “แฟมิลี่ มาร์ท”

สำหรับตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นนั้น นายไพศาล กล่าวว่า ภาพรวมจะมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นเพราะมีแบรนด์ใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดต่อเนื่องทั้งแบรนด์จากญี่ปุ่นและแบรนด์ที่คนไทยพัฒนาขึ้นมาเอง ซึ่งจากนี้แต่ละรายจะต้องมีการแยกเซกเมนต์ตัวเองให้ชัดเจนว่าจะรุกตลาดประเภทอะไร เช่น ราเมน บุฟเฟต์ ข้าวหน้าต่างๆ ปิ้งย่าง หรือซูชิ เป็นต้น เพราะจะทำให้สามารถเจาะตลาดง่ายกว่า รวมทั้งการทำโปรโมชั่นปีนี้จะรุนแรงมากขึ้น ทางด้านราคาในปีนี้ “โออิชิ” จะไม่เน้นมากนักเพราะให้ความสำคัญเรื่องการสร้างแวลูและการสร้างแบรนด์มากกว่า โดยการทำโปรโมชั่นก็จะมีไม่มากนัก โดยโปรโมชั่นลด 50% บุฟเฟต์เมื่อปีที่แล้ว บริษัทฯ ต้องรับภาระมากถึง 50 ล้านบาท

ขณะที่บริษัทฯ มีการพัฒนาแบรนด์ใหม่ๆ ต่อเนื่องซึ่งหากมีความพร้อมก็จะเปิดตัว ขณะเดียวกันก็มองหาแบรนด์ใหม่จากญี่ปุ่นเข้าตลาดไทยเช่นกัน ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาหลายแบรนด์รวมทั้งกลุ่มขนมและของหวานด้วย

สำหรับตลาดรวมร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยปัจจุบันมูลค่าตลาดประมาณ 22,000 ล้านบาท เติบโต 10-15% ต่อปี ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเติบโตเฉลี่ย 15% ต่อปี โดยปริมาณกว่า 80% เป็นร้านอาหารญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่ในศูนย์การค้า ขณะที่ตลาดรวมอาหารพร้อมรับประทาน หรือ เรดดี้ทูอีต หรืออาร์ทีอี มีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท มีการเติบโต 15-20% ต่อปีติดต่อกันมานาน 4 ปี และมีแนวโน้มเติบโตไม่ต่ำกว่า 5 ปี




กำลังโหลดความคิดเห็น