ไทยตั้งเป้าลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) ในสิ้นปี 2559 อยู่ที่ 1% ของจีดีพี หรือ 1.3 แสนล้านบาท โดยส่งเสริมให้เอกชนลงทุนเป็นส่วนใหญ่ โดยรัฐออกมาตรการภาษีสนับสนุนส่งเสริมภาคเอกชนเต็มที่ ด้านปูนซิเมนต์ไทยยันปีนี้บริษัทวางงบ R&D อยู่ที่ 1% ของยอดขาย หรือ 4.8 พันล้านบาท
นายพิเชษฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวในงาน “CEO Innovation Forum 2015-Driving R&D Investment 1% of GDP through Public-Private Partnership” วันที่ 2 มี.ค. ว่า เพื่อเป็นการขับเคลื่อนนโยบายรัฐที่ได้มีกำหนดแนวทางตัวเลขการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) ของประเทศอยู่ที่ 1% ของจีดีพีในสิ้นปี 2559 หรือคิดเป็นวงเงิน 1.3 แสนล้านบาท โดยเป็นการลงทุนด้าน R&D ของภาคเอกชนเป็นส่วนใหญ่ถึง 70% ที่เหลือเป็นภาครัฐ 30%
โดยจะส่งเสริมให้มีการลงทุน R&D ในอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ อาหาร รวมทั้งมีเป้าหมายส่งเสริมให้อุตสาหกรรมขนาดกลางและย่อม (SME) ลงทุนในด้าน R&D มากขึ้น โดยมีเป้าหมายระหว่างปี 2559-2563 เป็น 13,450 ราย จาก1,000 รายในปี 2558
ซึ่งขณะนี้ภาครัฐได้มีการกำหนดแนวทางสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาด้านการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้นเพื่อกระตุ้นการลงทุนด้านนี้ให้แก่ภาคเอกชน เนื่องจากการพัฒนาประเทศให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศในอนาคตจำเป็นต้องพึ่งพานวัตกรรม และ R&D โดยรัฐได้มีการออกมาตรการลดหย่อนภาษี
สำหรับการลงทุนด้าน R&D และนวัตกรรมถึง 300% โครงการ Talent Mobility ปลดล็อกให้นักวิจัยและนักเรียนทุนมาทำงานในภาคเอกชนโดยสามารถนับอายุงานและการใช้ทุนได้ และยังมีโครงการที่กำลังดำเนินการจัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวก (วัน สตอป เซอร์วิส) ในการจัดตั้งศูนย์วิจัยในไทยของภาคเอกชน ในปี 2556 ไทยมีการลงทุนด้าน R&D อยู่ที่ 0.47% หรือ 57,038 ล้านบาท โดยส่วนนี้เป็นการลงทุนของภาคเอกชนแค่ 47%
นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)(SCC) กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการวิจัย พัฒนา สร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้ามาโดยตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยปีนี้ได้วางงบประมาณสำหรับR&D อยู่ที่ 4,890 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1% ของยอดขายรวม เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีการใช้งบ R&D อยู่ที่ 2,710 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 0.6% ของยอดขาย
จากมาตรการรัฐก็จะทำให้เกิดแรงจูงใจงานวิจัยและพัฒนามากขึ้น มั่นใจจะมีภาคเอกชนไทยรวมถึงเอกชนญี่ปุ่นเข้ามาตั้งศูนย์วิจัยฯ ในไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อประเทศไทย เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านอาศัยความได้เปรียบด้านค่าแรงและแหล่งวัตถุดิบ ซึ่งการจะหนีการแข่งขันด้านราคาได้จำเป็นต้องพึ่งพาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วย ซึ่งไทยไม่สามารถหลีกหนีได้อีกต่อไป