กรมทางหลวงประเดิมเปิดประมูลมอเตอร์เวย์ พัทยา-มาบตาพุด 2.02 หมื่นล้าน มี.ค.นี้ ซอยยิบ 13 สัญญาเร่งก่อสร้างเสร็จใน 2.5 ปี พร้อมดันสายบางปะอิน-โคราช และบางใหญ่-กาญจนบุรี อีก 2 สายขอ ครม.อนุมัติในปีนี้ เริ่มสร้างปีหน้า “ชูศักดิ์” เผยเปิด AEC ทำถนนไทยพังเร็วขึ้น เตรียมของบซ่อมบำรุงถนนทั่วประเทศในปี 59 เพิ่มเป็น 3 หมื่นล้าน
นายชูศักดิ์ เกวี อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ในเดือนมีนาคมนี้กรมฯ จะเปิดประกวดราคาก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายพัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 32 กม. วงเงิน 20,200 ล้านบาท ซึ่งจะใช้เงินจากกองทุนค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์มาดำเนินการ โดยแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 13 ตอน (สัญญา) ซึ่งรวมงานระบบด่านเก็บค่าผ่านทางด้วย โดยมีขนาดและปริมาณงานแต่ละสัญญาเท่าๆ กัน ทั้งนี้ เพื่อเร่งรัดงานก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 2.5 ปี ส่วนการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้นได้เริ่มดำเนินการแล้ว ซึ่งในปี 2558 ได้รับจัดสรรงบประมาณ 1,400 ล้านบาท
ส่วนมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-โคราช ระยะทาง 196 กม. วงเงิน 84,600 ล้านบาท และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม. วงเงิน 55,620 ล้านบาท มีความพร้อมในการก่อสร้างแล้ว โดยขณะนี้กระทรวงคมนาคมกำลังหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมของโครงการ ซึ่งกรมฯ เสนอขอใช้เงินกู้ภายในประเทศ เนื่องจากจะมีต้นทุนทางการเงินต่ำที่สุด หากได้ข้อสรุปจะต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมติ จากนั้นจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนการประมูล คาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 1 ปี ส่วนการเวนคืนจะเริ่มในปีงบประมาณ 2559
โดยวันนี้ (17 ก.พ.) นายชูศักดิ์ได้เป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 ในโครงการศึกษาจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาทางหลวงเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยระบุว่า กรมฯ จะต้องเร่งพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเพื่อรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) 5 พื้นที่ 6 ด่านตามนโยบายรัฐบาล เช่นด่านแม่สอด จ.ตาก วงเงินรวมกว่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีทั้งการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 พร้อมถนนโครงข่าย วงเงิน 3,300 ล้านบาท, ก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 12 (ตาก-แม่สอด) ระยะทาง 27 กม. วงเงิน 1,500 ล้านบาท,ด่าน จ.มุกดาหาร พัฒนาเส้นทางแนวใหม่ กาฬสินธุ์-นาไคร้-คำชะอี วงเงินกว่า 4,700ล้านบาท เป็นต้น, ด่านคลองใหญ่ จ.ตราด อยู่ระหว่างประมูลขยายถนนเป็น 4 เลน จากตราด-บ้านหาดเล็ก ระยะทาง 32 กม. วงเงิน 900 ล้านบาท เป็นต้น
นายชูศักดิ์กล่าวว่า กรมฯ ได้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาทางหลวงเพื่อรองรับการเข้าสู่ AEC เนื่องจากคาดว่าหลังเปิด AEC ปริมาณการจราจรบนทางหลวงจะเพิ่มมากขึ้นและมีโอกาสที่จะทำให้ถนนชำรุดรวดเร็วขึ้น โดยกรมฯ ได้เสนอขอจัดสรรงบซ่อมบำรุงถนนในปี 2559 ที่ประมาณ 25,000-30,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่ได้รับงบซ่อมบำรุง 20,000 ล้านบาท ซึ่งกรมฯ จะมีการกำหนดเส้นทางที่รถจากประเทศ AEC จะเข้ามาวิ่งได้ รวมถึงควบคุมน้ำหนักบรรทุกที่ไม่เกิน 50.5 ตัน ตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาพบว่า หลังเปิด AEC คาดว่าจะมีความเสียหายของสภาพของถนนและผิวทาง และมีค่าซ่อมบำรุงผิวทางเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ 2,900 ล้านบาทต่อปี (49,600 บาทต่อ กม.ต่อปี) ส่วนผลกระทบทางสังคม อุบัติเหตุจราจร และสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะมีความสูญเสียเพิ่มขึ้น 2,800 ล้านบาทต่อปี (48,300 บาทต่อ กม.ต่อปี) มีต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น 520 ล้านบาทต่อปี (8,800 บาทต่อ กม.ต่อปี)