xs
xsm
sm
md
lg

SCC เลื่อนสรุปมูลค่าโครงการปิโตรฯ เวียดนาม จ่อลงทุนดาวน์สตรีมเพิ่มที่อินโดนีเซีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“เอสซีจี เคมิคอลส์” เผยราคาน้ำมันที่ผันผวนทำให้การสรุปมูลค่าโครงการปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ที่เวียดนามล่าช้าออกไป มั่นใจกลางปีนี้สรุปทั้งมูลค่าโครงการและการจัดหาเงินกู้ เล็งขยายโรงงานดาวน์สตรีมในอินโดนีเซียรองรับส่วนขยายเอทิลีน ส่วนไทยเล็งขยายคอขวดโรงโอเลฟินส์เพิ่มขึ้น ยอมรับราคาน้ำมันวูบฉุดรายได้หด แต่กำไรดีอยู่

นายชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เคมิคอลส์ ในเครือบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCC) เปิดเผยว่า จากราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ผันผวนในช่วงนี้ทำให้สภาวะเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้การสรุปมูลค่าโครงการปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ที่ประเทศเวียดนามต้องเลื่อนออกไปอีก 3-4 เดือน หลังจากที่ผู้รับเหมาได้ยื่นเสนอราคาค่าก่อสร้างมาแล้ว คาดว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนและการจัดหาเงินกู้ในกลางปีนี้ โดยจะใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี

เบื้องต้นกำหนดมูลค่าโครงการอยู่ที่ 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างเครือซิเมนต์ไทย 46% เวียดนาม 29% กาตาร์ 25% โดยโครงการนี้ล่าช้ามานาน 8-9 ปีเนื่องจากประสบปัญหาวิกฤตซับไพรม์เมื่อปี 2550 ปัญหาเงินเฟ้อจนกระทบค่าเงินด่งทำให้สถาบันการเงินไม่มั่นใจ ปัจจุบันปัจจัยลบต่างๆ ได้คลี่คลายไป และเหตุการณ์ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วในปี 2557 ต่อเนื่องมาจนถึงขณะนี้ เป็นโอกาสดีที่บริษัทฯ จะเร่งเดินหน้าโครงการปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ที่เวียดนาม เพราะประเมินแนวโน้มค่าก่อสร้างจะลดลงจากผลกระทบราคาน้ำมันที่ผันผวน

นายชลณัฐกล่าวถึงแผนการลงทุนเพิ่มในบริษัทร่วมทุน “พีที จันทรา แอสซรี” ที่อินโดนีเซียว่า ขณะนี้โครงการขยายกำลังการผลิตโรงโอเลฟินส์ของพีที จันทรา แอสซรีจาก 6 แสนตันเป็น 8.5 แสนตัน/ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปีนี้ หลังจากนั้นก็จะขายเอทิลีนที่ผลิตได้ให้กับโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกในประเทศอินโดนีเซียไปก่อน เพราะตลาดในประเทศยังมีความต้องการมาก หลังจากนั้นจะพิจารณาขยายกำลังการผลิตโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกเพิ่มเติมเพื่อรองรับปริมาณเอทิลีนที่ผลิตได้ โดยยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้

ส่วนการลงทุนโครงการปิโตรเคมีในประเทศไทยนั้น โอกาสการตั้งโรงงานปิโตรเคมีขนาดใหญ่ในไทยคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายด้านโดยเฉพาะใบอนุญาตต่างๆ เช่นรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพชุมชน (EHIA) และข้อกำหนดการลดมลภาวะในพื้นที่ให้ลดลงก่อนที่จะตั้งโรงงานใหม่ได้ ฯลฯ ทำให้บริษัทฯ หันไปลงทุนในต่างประเทศแทน แต่สิ่งที่ทำได้คือปรับปรุงโรงงานปิโตรเคมีในไทยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและการขยายการผลิตแบบคอขวด (Debottleneck) โดยปีนี้บริษัทมีแผนจะขยายกำลังการผลิตแบบ Debottleneck ในโรงโอเลฟินส์ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต ใช้เงินลงทุนไม่มากนัก และไม่ต้องขอ EHIA แต่อย่างใด

รวมทั้งหันมาผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่ม (HVA) แทน ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของเครือเอสซีจีที่จะมุ่งมั่นด้านนวัตกรรมเพื่อเพิ่มสัดส่วนการผลิตสินค้า HVA โดยปีนี้เครือเอสซีจีตั้งงบวิจัยและพัฒนา (R&D) ถึง 4.8 พันล้านบาท จัดสรรเป็นงบ R&D ของเอสซีจี เคมิคอลส์ 2.1 พันล้านบาท

ในปีนี้เอสซีจี เคมิคอลส์ตั้งเป้ายอดขายสินค้า HVA เพิ่มขึ้นเป็น 29% ของยอดขายรวม โตขึ้นจากปีก่อน 2% โดยปีนี้จะมีสินค้า HVA ใหม่ออกสู่ตลาดกว่า 14 รายการ เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญในการวิจัยเพื่อนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ช่วยตอบโจทย์ความต้องการให้แก่ลูกค้า เช่น การพัฒนานวัตกรรมวัสดุนาโนเพื่อผลิตสินค้า HVA หลากหลายประเภท การผลิตฟิล์มชนิดพิเศษช่วยถนอมอาหาร ผลิตภัณฑ์อีมิสโปร ซึ่งเป็นสารเคลือบเตาเผาอุตสาหกรรมช่วยประหยัดพลังงาน และการออกแบบตัวเร่งปฏิกิริยาในกระบวนการผลิตปิโตรเคมีเพื่อลดการใช้พลังงานลง เป็นต้น โดยบริษัทฯ ได้มีการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และปีที่แล้วยังได้ซื้อหุ้นบริษัท Normer AS จากนอร์เวย์ ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยและพัฒนาพลาสติกระดับโลกด้วย มั่นใจว่าภายใน 5 ปีข้างหน้าสัดส่วนยอดขายสินค้า HVA จะเพิ่มมากขึ้น

นายชลณัฐกล่าวถึงทิศทางราคาปิโตรเคมีในปีนี้ว่า จากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงทำให้ราคาวัตถุดิบ คือแนฟทาปรับตัวลงตาม ขณะที่ราคาเม็ดพลาสติกปรับตัวลงในทิศทางที่ช้ากว่า ทำให้ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับแนฟทา (สเปรด) กว้างมากขึ้นปัจจุบันอยู่ที่ 650-700 เหรียญสหรัฐ/ตัน คาดว่าทั้งปีนี้อยู่ที่ 700 เหรียญสหรัฐ/ตันใกล้เคียงปีที่แล้ว

ดังนั้น ในปีนี้ยอดขายของกลุ่มเอสซีจี เคมิคอลส์จะต่ำกว่าปีที่แล้วที่มียอดขาย 2.5 แสนล้านบาท เนื่องจากราคาเม็ดพลาสติกปรับตัวลดลงตามทิศทางน้ำมัน และกำลังผลิตใหม่เข้ามาน้อย แม้ว่าปีนี้จะไม่มีแผนปิดซ่อมบำรุงโรงงานก็ตาม แต่กำไรจากธุรกิจนี้จะยังดีอยู่ เนื่องจากสเปรดผลิตภัณฑ์พลาสติกสูง การผลิตสินค้า HVA มากขึ้น และ บริษัทยังมีรายได้จากการขายเทคโนโลยีด้วย

ที่ผ่านมาบริษัทมีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเม็ดพลาสติกชนิด HDPE โดยจับมือกับมิตซุย เคมิคอล ประเทศญี่ปุ่นในการขายใบอนุญาต (ไลเซนส์) เทคโนโลยีดังกล่าวด้วยกัน ซึ่งโรงงานผลิต HDPE ขนาด 5 แสนตัน/ปี หนึ่งในโครงการปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ที่เวียดนามก็เลือกใช้เทคโนโลยีนี้ นับเป็นลูกค้ารายแรกของบริษัทฯ และมีแผนขายไลเซนส์ไปทั่วโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น