xs
xsm
sm
md
lg

แอร์พอร์ตลิงก์ฉาวอีก แก๊งปลอมลายเซ็นหลอกซัปพลายเออร์ สั่งซื้อหลอดไฟ 900 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้บริหารแอร์พอร์ตลิงก์มึนตึ้บ ถูกซัปพลายเออร์แจ้งบิลเรียกเก็บค่าหลอดไฟ คิดเป็นเงินถึง 900 ล้านบาท ตรวจพบลายเซ็นใบคำสั่งซื้อ ตรวจรับสินค้าปลอมทั้งหมด แฉทำเป็นขบวนการ กินหัวคิว 10% แล้วชิงลาออกหนีไปหมด เผยเกิดในสมัยช่วงรอยต่อหลังบอร์ดมีมติให้ CEO คนเก่าออก เม.ย.-พ.ค. 57 ขณะที่ตำรวจ สน.วังทองหลางเข้าสอบสวน พบมีการปลอมลายเซ็นจริง เตรียมหาตัวผู้เกี่ยวข้องมาดำเนินคดี

รายงานข่าวจากบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด (ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์) แจ้งว่า เกิดเรื่องไม่ชอบมาพากลในบริษัทและอาจจะเป็นคดีฉ้อโกงที่มีผู้เกี่ยวข้องเป็นอดีตผู้บริหารโดยกระทำกันเป็นขบวนการ โดยใช้ชื่อบริษัทฯ ในการสั่งซื้อของ และมีการขอแบ่งค่านายหน้า 10 เปอร์เซ็นต์จากมูลค่ารวมกว่า 900 ล้านบาท โดยจากข้อมูลภายในพบว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีบริษัทซัปพลายเออร์รายหนึ่งได้มีใบเสร็จเรียกเก็บเงินค่าสั่งซื้อหลอดไฟ LED ในขณะเดียวกันตัวแทนธนาคารกสิกรไทยได้ติดต่อมายังรักษาการผู้อำนวยการใหญ่ (CEO) แอร์พอร์ตลิงก์ เพื่อขอให้ยืนยันคำสั่งซื้อหลอดไฟ LED ดังกล่าว เนื่องจากซัปพลายเออร์ได้ใช้คำสั่งซื้อหลอดไฟดังกล่าวป็นหลักฐานในการขอกู้เงิน 100 ล้านบาทจากธนาคาร แต่เมื่อตรวจสอบพบลายเซ็นของ CEO ไม่ตรงกัน จึงเกิดการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้น

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าได้มีใบสั่งซื้อหลอดไฟ LED ออกโดยแอร์พอร์ตลิงก์ไปแล้วรวม 17 ใบ มูลค่าใบละ 20-30 ล้านบาท ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อที่บอร์ดได้มีมติให้นายพีระกันต์ แก้ววงศ์วัฒนา พ้นจากตำแหน่ง CEO และแต่งตั้ง พล.อ.อ.คำรบ ลียะวณิช เป็นรักษาการ CEO แทน โดยซัปพลายเออร์ได้นำคำสั่งซื้อดังกล่าวไปยื่นขอกู้เงินจากธนาคารกสิกรไทยวงเงิน 100 ล้านบาทไปแล้ว ในขณะที่มีการตรวจรับหลอดไฟ LED ไปแล้วคิดเป็นมูลค่า 600 ล้านบาท แต่ไม่มีหลอดไฟส่งมาที่แอร์พอร์ตลิงก์จริง โดยทำเรื่องว่าส่งมอบแล้วแต่มีการฝากของไว้กับซัปพลายเออร์ก่อน โดยอ้างว่าไม่มีที่เก็บ ซึ่งเป็นข้อพิรุธอย่างมาก รวมถึงอ้างเหตุที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าบริหารทำให้การดำเนินโครงการต่างๆ ต้องหยุดเพื่อรอให้ คสช.ตรวจสอบก่อนอีกด้วย

แหล่งข่าวกล่าวว่า ซัปพลายเออร์ได้เรียกเก็บเงินเข้ามาอีกเพื่อจะใช้ในการกู้เงินจากธนาคารอีก 100 ล้านบาท แต่คราวนี้คำสั่งซื้อเป็นลายเซ็นของรักษาการ CEO คนปัจจุบัน ซึ่งส่วนตัวมีธุรกรรมกับธนาคารอยู่ และธนาคารตรวจพบว่าลายเซ็นในคำสั่งซื้อไม่ตรงกับลายเซ็นปกติ จึงชะลอการให้กู้ และสอบถามเข้ามาที่บริษัท ปรากฏว่าในคำสั่งซื้อเป็นลายเซ็นปลอม เท่ากับว่าการสั่งซื้อหลอดไฟ LED ที่มีการตรวจรับไปก่อนหน้านี้ วงเงิน 600 ล้านบาท ทำกันเป็นขบวนการตั้งแต่การออกคำสั่งซื้อและกรรมการตรวจรับ ซึ่งพบว่าผู้ที่เกี่ยวข้องได้ลาออกจากแอร์พอร์ตลิงก์ไปหมดแล้ว โดยทางซัปพลายเออร์ได้ไปแจ้งความที่ สน.วังทองหลางแล้ว และอยู่ในขั้นตอนการสืบสวนสอบสวน

ด้าน พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) แอร์พอร์ตลิงก์ กล่าวยอมรับว่า มีบริษัทซัปพลายเออร์ผู้จัดหาหลอดไฟ LED ติดต่อขอพบและแจ้งว่ามีการสั่งซื้อหลอดไฟ LED ซึ่งได้ตรวจสอบพบว่าในคำสั่งซื้อทั้งหมดเป็นลายเซ็นปลอม และซัปพลายเออร์ก็ถูกหลอก ซึ่งเบื้องต้นไม่ถือว่าเกี่ยวข้องกับแอร์พอร์ตลิงก์แต่อย่างใด

***จี้ ร.ฟ.ท.ตัดสินใจเรื่องแยกบริหาร พร้อมเร่งประมูล Overhaul

พล.อ.ธวัชชัยกล่าวว่า เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาบอร์ดได้มีการประชุม โดยได้หารือและติดตามความคืบหน้าการขอแยกบริหารงานออกจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเสนอไปยัง ร.ฟ.ท. และกระทรวงคมนาคมแล้ว ทั้งนี้ เพื่อความคล่องตัวในการบริหารงานและการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งปัจจุบันมีขั้นตอนกระบวนการมาก ทำให้ล่าช้าและกระทบการให้บริการ ซึ่งบริษัทฯ จะทำหนังสือถึง ร.ฟ.ท.เพื่อขอให้เร่งรัดกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง การซ่อมบำรุงใหญ่ (Overhaul) โดยขอให้เลือกบริษัทที่สามารถจัดหาอะไหล่ได้ในระยะเวลาที่เร็วกว่า 8 เดือนเพื่อเร่งการซ่อมให้เร็วขึ้น โดยเบื้องต้นทราบว่า ร.ฟ.ท.จะดำเนินการร่าง TOR ประกวดราคาแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม และจะประกวดราคาเสร็จในเดือนเมษายน

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทได้ดำเนินการซ่อมบำรุงบางส่วน (Partial Overhaul) เรียบร้อยไปแล้ว 8 ขบวน โดยมีรถให้บริการเฉลี่ย 5-6 ขบวนต่อวัน มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละ 6 หมื่นคน ซึ่งตราบใดที่ขบวนรถยังไม่ได้รับการซ่อมบำรุงใหญ่ก็ยังจะเป็นข้อกังวลในการให้บริการ เนื่องจากวงจรของรถไฟฟ้าหากจุดใดเกิดปัญหาระบบจะแจ้งเตือน และต้องหยุดวิ่ง ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยสูงสุด ดังนั้นขบวนรถควรได้รับการซ่อมบำรุงใหญ่เร็วที่สุดเพื่อความมั่นใจในบริการ
กำลังโหลดความคิดเห็น