xs
xsm
sm
md
lg

แอร์พอร์ตลิงก์เลิกสัญญาเช็กอิน “สามารถ-แดนไทย” หยุดวิ่งรถไฟฟ้าด่วนประหยัดเดือนละ 7 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แอร์พอร์ตลิงก์เลิกสัญญาบริการเช็กอิน “สามารถ-แดนไทย” หลังหยุดบริการรถไฟฟ้าด่วน สุดคุ้มเหตุประหยัดเดือนละ 7 ล้าน ขณะที่มีผู้ใช้บริการวันละไม่ถึง 10 ราย เตรียมปรับแผนซ่อมใหญ่ (Overhaul) รอบที่ 2 เป็นระยะวิ่งที่ 3 ล้าน กม. หลังซ่อมรอบแรกล่าช้า “ภากรณ์” รายงานบอร์ดวันนี้ เร่งซ่อมบำรุงอะไหล่สำคัญบางส่วน เดินรถ 5 ขบวนสลับซ่อมหมุนเวียน พร้อมเร่งทีโออาร์ประมูล overhaul เสร็จต้นปี 58

นายภากรณ์ ตั้งเจตสกาว รองผู้ว่าการด้านโครงสร้างพื้นฐาน 1 การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในฐานะรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด เปิดเผยว่า จะรายงานความคืบหน้าการแก้ปัญหาการให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ต่อที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) แอร์พอร์ตลิงก์ที่มี พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร เป็นประธาน ในวันนี้ (22 ก.ย.) ซึ่งในขณะนี้ได้จัดตั้งคณะกรรมการประกวดราคาด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิสก์ (อี-ออกชัน) ในการซ่อมบำรุงใหญ่ (Overhaul) รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์วงเงิน 385.94 ล้านบาท ตามมติบอร์ดการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) แล้ว ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการดำเนินการและซ่อมบำรุงแล้วเสร็จประมาณ 2 ปี โดยการประกวดราคาและลงนามสัญญารวม 5 เดือน ดำเนินการจัดหาอะไหล่ 8 เดือน และใช้เวลาในการซ่อมบำรุงรถทั้ง 9 ขบวนประมาณ 1 ปี (3 เดือนต่อ 2 ขบวน)

โดยในระหว่างนี้รถที่มีความพร้อมในการให้บริการเฉลี่ยวันละ 5 ขบวนจากที่มีรถทั้งหมด 9 ขบวน ซึ่งมีรถที่วิ่งครบ 1.32 ล้านกิโลเมตรแล้ว 2 ขบวน โดยในระหว่างรอการซ่อมบำรุงนั้นจะใช้วิธีการซ่อมบำรุงอะไหล่สำคัญหลัก หรืออะไหล่สำคัญบางส่วน (Partial Overhaul) ซึ่งขณะนี้ได้สั่งซื้ออะไหล่มาแล้วประมาณ 95% พร้อมลงมือซ่อมในเร็วๆ นี้ ซึ่งขบวนรถที่ได้รับการซ่อมดังกล่าวจะสามารถใช้งานสลับหมุนเวียนไปได้ในระหว่างรอการ Overhaul แล้วเสร็จ

นายภากรณ์กล่าวว่า จะมีการปรับแผนการซ่อมบำรุงใหญ่ (Overhaul ) ขบวนรถใหม่ทั้ง 9 ขบวนใหม่ เนื่องจากรถไม่ได้รับ Overhaul ในรอบ 1.32 ล้านกิโลเมตร แต่เป็นการซ่อมบางส่วน (Partial Overhaul) แทน ดังนั้น ในการ Overhaul รอบที่สอง ซึ่งเดิมจะดำเนินการเมื่อรถวิ่งครบที่ 2.4 ล้านกิโลเมตรนั้น จะปรับเป็นที่ระยะ 3 ล้านกิโลเมตรแทน เนื่องจากการ Overhaul รอบแรกจะแล้วเสร็จในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งคาดว่ารถจะวิ่งถึง 1.8 ล้านกิโลเมตร

ส่วนสาเหตุที่มีการงดให้บริการรถไฟฟ้าด่วน Express Line (มักกะสัน-สุวรรณภูมิ-มักกะสัน) ชั่วคราวในขณะนี้นั้นเนื่องจากมีผู้โดยสารประมาณ 1,000 คนต่อวัน ขณะที่มีความต้องการนำขบวนรถ Express มาวิ่งให้บริการในเส้นทางของรถไฟฟ้าสาย City Line ที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมากซึ่งเฉลี่ยวันละกว่า 5.4 หมื่นคน ซึ่งบริษัทฯ จึงไม่มีการต่อสัญญากับกลุ่มบริษัทสามารถ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัทแดนไทย จำกัด ที่ให้บริการเช็กอินผู้โดยสารที่สถานีมักกะสัน ซึ่งจะหมดสัญญาในเดือนกันยายนนี้ ทำให้สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้เดือนละ 7 ล้านบาท (จ่ายค่าบริการให้บริษัทสามารถ3 ล้านบาท, บริษัทแดนไทย 4 ล้านบาท) ในขณะที่มีผู้ใช้บริการเช็กอินเฉลี่ยวันละ 10 รายเท่านั้น

“บริการเช็กอินมีตั้งแต่เปิดเดินรถรวม 3 ปีแต่ไม่ได้รับความนิยม และได้มีการต่อสัญญาให้ถึง 2 ครั้ง การหยุดบริการรถไฟฟ้าด่วน แม้จะทำให้ขาดรายได้จากผู้โดยสารรถไฟฟ้าด่วนเดือนละประมาณ 1 ล้านบาทเศษ แต่สามารถประหยัดค่าบริการเช็กอินไปถึงเดือนละ 7 ล้านบาท ถือว่าคุ้มค่าในสถานการณ์ขณะนี้ และยังสามารถนำรถไฟฟ้าด่วนที่มีมาให้บริการผู้โดยสารรถไฟฟ้าธรรมดาที่มีจำนวนมากกว่าได้อีกด้วย” นายภากรณ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น