“พาณิชย์” วิเคราะห์น้ำมันโลกลดส่งผลบวกต่อไทยมากกว่าลบ เผยจีดีพีจะเพิ่มขึ้น 0.96% เงินเฟ้อลดลง แต่ต้องรอผลประเมินก่อน ส่วนการบริโภคเพิ่มขึ้น 2.2% ส่งออกเพิ่ม 1% ระบุภาคบริการขนส่งทั้งบก เรือ อากาศต้นทุนลดวูบ ภาคเกษตรก็ได้ผลดี ทั้งอ้อย ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์ม และยาง ขณะที่เหล็ก โลหะได้รับผลบวกน้อย คาดส่งออกไปประเทศที่ค้าน้ำมันอาจลดบ้าง
นางดวงกมล เจียมบุตร โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้ทำการวิเคราะห์ผลกระทบจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยล่าสุดลดลงต่ำกว่า 50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หรือลดลงประมาณ 60% จากช่วงสูงสุดเดือน มิ.ย. 2557 และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี ซึ่งผลจากการที่น้ำมันลดลงส่งผลบวกต่อไทยมากกว่าผลลบ โดยเฉพาะผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการใช้น้ำมัน และสินค้าเกษตร
ทั้งนี้ ประเมินว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยทั้งปี 2558 น่าจะอยู่ที่ 65 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไทย โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง (จีดีพี) เพิ่มขึ้น 0.96% เงินเฟ้อคาดว่าจะลดลงจากเป้าเดิมที่ตั้งไว้ที่ 2.2% มีกรอบอยู่ที่ 1.8-2.5% โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินตัวเลขใหม่ ส่วนการบริโภคที่แท้จริงภายในประเทศจะเพิ่มขึ้น 2.2% การส่งออกเพิ่มขึ้น 1% ภายใต้ปัจจัยทางเศรษฐกิจต่างประเทศไม่เปลี่ยนแปลง
สำหรับผลบวกต่อภาคธุรกิจอื่นๆ พบว่า ธุรกิจบริการขนส่ง ซึ่งมีต้นทุนน้ำมันในสัดส่วนที่สูงจะได้รับประโยชน์สูงสุด ได้แก่ การขนส่งทางบก การขนส่งทางเรือ และการขนส่งทางอากาศตามลำดับ โดยการขนส่งทางบกมีต้นทุนน้ำมันประมาณ 40-50% ของต้นทุนรวม การขนส่งทางอากาศมีต้นทุนน้ำมันเป็นสัดส่วนประมาณ 30-40% ของต้นทุนรวม และการขนส่งทางเรือมีต้นทุนน้ำมันประมาณ 20-25% ของต้นทุนรวม
ขณะที่ภาคการผลิตที่ได้รับประโยชน์รองลงมา คือ ภาคการเกษตร ซึ่งจะมีต้นทุนการผลิตสินค้าทางการเกษตรลดลง ส่งผลให้มีผลผลิตการเกษตรและส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ อ้อย ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และยางพารา ตามลำดับ โดยสินค้าเหล่านี้มีต้นทุนน้ำมันประมาณ 8-10% ของต้นทุนรวม
ส่วนภาคอุตสาหกรรม ได้รับผลบวกจากการลดลงของราคาน้ำมันค่อนข้างน้อย เนื่องจากพลังงานที่ภาคอุตสาหกรรมใช้ส่วนใหญ่จะเป็นพลังงานจากไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติประมาณ 70% ของการใช้พลังงานรวม โดยอุตสาหกรรมที่จะได้รับประโยชน์จากการลดลงของราคาน้ำมัน ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า การผลิตผลิตภัณฑ์โลหะที่มิใช่เหล็ก ซึ่งมีต้นทุนน้ำมันประมาณ 1.5-2.0% ของต้นทุนรวม
อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่ลดลงก็มีผลลบต่อเศรษฐกิจไทย โดยการส่งออกไปยังตลาดซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันจะได้รับผลกระทบ เช่น ตะวันออกกลาง และรัสเซีย โดยเฉพาะรถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ แต่ผลกระทบอาจไม่มาก เนื่องจากตลาดเหล่านี้มีสัดส่วนในการส่งออกรวมของไทยเพียงร้อยละ 6
นางดวงกมลกล่าวว่า สำหรับการที่ค่าเงินบาทจะมีแนวโน้มอ่อนค่าลงในช่วงปลายปี 2558 เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้เงินทุนไหลออกจากไทยกลับไปยังสหรัฐฯ และค่าเงินบาทจะอ่อนค่า อันจะส่งผลดีต่อการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าที่พึ่งพาวัตถุดิบภายในประเทศเป็นหลัก เช่น เครื่องนุ่งห่ม ยาง และอาหาร