หอการค้าไทยเตรียมหารือแบงก์ชาติหามาตรการดูแลค่าเงินบาท ป้องกันความผันผวน เหตุกระทบทั้งภาคส่งออก การกู้เงิน และการออกพันธบัตร พร้อมแนะรัฐเร่งเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูให้เร็วเพื่อแก้ปัญหาถูกตัดจีเอสพี
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยเตรียมหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อหามาตรการหรือเครื่องมือในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้ผันผวน รวมถึงการหามาตรการดูแลผลกระทบในด้านอื่นที่ไม่ใช่แค่ภาคการส่งออก เพราะอัตราแลกเปลี่ยนยังมีผลต่อทั้งในส่วนของเงินกู้ และพันธบัตร (บอนด์) โดยเฉพาะในส่วนของเงินกู้สำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งหากสามารถบริหารจัดการได้อย่างเหมาะสมก็จะดูแลสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีขึ้น
ทั้งนี้ เอกชนยังจะหารือกับ ธปท.เกี่ยวกับการใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามชายแดน เพราะหากสามารถใช้เงินสกุลใดสกุลหนึ่งได้ก็จะทำให้การค้าตามแนวชายแดนมีความคล่องตัวมากขึ้น เนื่องจากระบบธนาคารของประเทศเพื่อนบ้านยังไม่สะดวกนัก
สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบันพบว่าค่าเงินบาทของไทยแข็งค่ากว่าประเทศเพื่อนบ้านมาก โดยปี 2557 ค่าเงินบาทไทยอ่อนค่าอยู่ที่ 0.49% มาเลเซียอ่อนค่าอยู่ที่ 6.28% อินโดนีเซียอยู่ที่ 2.22% สิงคโปร์อยู่ที่ 4.41% พม่าอยู่ที่ 6.28% เกาหลีใต้อยู่ที่ 4.23% ญี่ปุ่นอยู่ที่ 11.86% สหภาพยุโรป (อียู) อยู่ที่ 13.07% รัสเซียอยู่ที่ 43.33% และบราซิลอยู่ที่ 11.19%
นายอิสระกล่าวว่า ทางด้านผลกระทบจากการถูกอียูตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) แม้ว่าจะยังไม่กระทบทันทีเพราะยังมีสินค้าบางรายการที่สามารถเจรจาขอเว้นภาษีได้ในกรณีที่เป็นสินค้านำเข้าไปเพื่อไปเพิ่มมูลค่า ซึ่งภาคเอกชนอยากผลักดันให้รัฐบาลเร่งเปิดเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-อียูโดยเร็วเพื่อทดแทนสิทธิจีเอสพีที่หายไป
ส่วนสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง แม้จะเป็นข่าวดีของประเทศผู้นำเข้าน้ำมันอย่างไทย แต่คงต้องใช้เวลาในการปรับตัวเรื่องค่าใช้จ่ายและราคาสินค้าที่ไม่สามารถปรับลดลงได้ทันที ขณะเดียวกัน ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดที่เป็นผู้ค้าน้ำมัน เช่น รัสเซีย ที่จะมีการซื้อสินค้าไทยลดลง หรือจำนวนนักท่องเที่ยวมาไทยลดลง
นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการและโฆษกหอการค้าไทย กล่าวว่า อยากขอให้ทุกคนต้องระวังและติดตามปัจจัยเสี่ยงอย่างใกล้ชิด ทั้งค่าเงินบาท ราคาน้ำมัน และผลจากการตัดจีเอสพี เพราะมีผลกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ และควรใช้โอกาสนี้ปรับตัว และเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของประเทศไทยในปี 2558 น่าจะขยายตัวได้ที่ 3-4% เช่นเดียวกับการขยายตัวของการส่งออก เนื่องจากเงินอัดฉีดในการลงทุนโครงการต่างๆ ของรัฐบาลจะเริ่มทยอยออกมา