xs
xsm
sm
md
lg

คาดที่ประชุม กนง.นัดแรก วันที่ 28 ม.ค. แนวโน้มคง ดบ.นโยบายที่ระดับ 2%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดที่ประชุม กนง.นัดแรกปี 58 วันที่ 28 ม.ค.นี้ น่าจะคงอัตรา ดบ.นโยบายที่ระดับ 2% เพื่อรอดูพัฒนาการของการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย หลังจากนี้ไปอีก 2-3 เดือน ขณะที่โมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเริ่มปรากฏให้เห็นขึ้นบ้างแล้ว

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 28 มกราคม 2558 นี้ น่าจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 2.00 เพื่อรอดูพัฒนาการของการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย หลังจากที่โมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเริ่มปรากฏให้เห็นขึ้นบ้าง

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ยังคาดการณ์ด้วยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมายของ ธปท.ในปีนี้ ส่งผลให้ ธปท.สามารถรอประเมินความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจผ่านกลไกหลักต่างๆ เช่น การใช้จ่ายของภาครัฐ การบริโภคภาคเอกชน และการส่งออก

นอกจากนี้ ยังประกอบกับติดตามประเด็นที่อาจนำไปสู่ความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดการเงินโลกระยะข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นท่าทีในการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางในต่างประเทศที่จะเริ่มมีความแตกต่างกันมากขึ้น วิกฤตการณ์ในรัสเซีย และการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)

อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นช้ากว่าที่คาดไว้ และเหตุการณ์ดังกล่าวในต่างประเทศเริ่มส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินในประเทศเพิ่มขึ้น ก็ยังมีโอกาสที่ กนง. อาจจะพิจารณาทางเลือกในการใช้นโยบายการเงินเพื่อดูแลเศรษฐกิจเพิ่มในอนาคต

ทั้งนี้ ธปท.คงจะจับตาพัฒนาการของเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจที่สำคัญในอีก 1-2 เดือนข้างหน้าว่า จะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องมากน้อยเพียงใด เช่น การใช้จ่ายของภาครัฐคงต้องติดตามการเบิกจ่ายของรัฐบาลว่าสามารถทำได้ตามเป้าหรือไม่ โดยเฉพาะในส่วนของงบลงทุน 449,000 ล้านบาท ซึ่งไตรมาสแรกปีงบประมาณอาจจะยังต่ำกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากอยู่ในช่วงของการทำสัญญาและเริ่มเบิกจ่าย

ขณะเดียวกัน การฟื้นตัวของภาคการบริโภคว่าจะมีความชัดเจนเพียงใด แม้ว่าจะเริ่มมีทิศทางปรับดีขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงน่าจะช่วยสร้างอานิสงส์ต่อการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน อย่างไรก็ตาม กลไกการส่งผ่านผลที่เกิดขึ้นไปยังราคาสินค้าอื่นๆ ที่จะช่วยเกื้อหนุนการบริโภคอาจยังไม่ปรากฏให้เห็นชัดเจนในขณะนี้

ประกอบกับการฟื้นตัวของภาคการบริโภคยังน่าจะถูกกดดันจากระดับหนี้ภาครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรที่ยังตกต่ำ อาจจะส่งผลต่อการบริโภคในต่างจังหวัด การฟื้นตัวของภาคการส่งออกว่าจะขยายตัวได้มากเท่าใด โดยภาคการส่งออกอาจจะได้รับแรงกดดันจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงอ่อนแอ รวมทั้งผลของการสิ้นสุดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ยุโรป ที่อาจกระทบความต้องการสินค้าไทยของผู้นำเข้ายุโรป
กำลังโหลดความคิดเห็น