xs
xsm
sm
md
lg

หอการค้าไทยชี้ส่งออกปีนี้โต3.1%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-หอการค้าไทย คาดส่งออกปี 58 เริ่มสดใส ขยายตัวได้ 3.1% ขณะที่ตลาดยุโรปติดลบเป็นครั้งแรกหลังถูกตัดจีเอสพี ระบุมูลค่าสูญ 3.1 หมื่นล้านบาท ชี้บาทอ่อนไม่ได้หนุนส่งออก เนื่องจากอ่อนน้อยกว่าคู่แข่ง

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศไทย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงทิศทางการส่งออกสินค้าไทยปี 58 ว่า การส่งออกสินค้าไทยในปี 58 สดใสกว่าปี 57 โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ในกรอบ 1.0-4.9% มูลค่า 229,866-238,923 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีความเป็นไปได้ 50% ที่จะขยายตัวได้ 3.1% มูลค่า 234,745 ล้านเหรียญฯ จากปี 57 ที่คาดว่าจะติดลบ 0.4%

ทั้งนี้ หากพิจารณาเป็นรายตลาดจะพบว่า ตลาดสหรัฐคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 3.7% ในปี 57 เป็น 4.2% ในปี 58 หรือมีมูลค่า 24,802 ล้านเหรียญฯ เพราะคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขายตัวเพิ่มขึ้นจาก 2.2% ในปีนี้เป็น 3.1% ในปี 58 ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.8% สำหรับตลาดสหภาพยุโรป (อียู) คาดว่าการส่งออกจะหดตัวครั้งแรกในรอบ 3 ปี
หลังจากที่หดตัวอย่างหนักในปี 55 จากที่อียูตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (จีเอสพี) สินค้าไทยจำนวน 6,200 รายการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.58 โดยคาดว่าการส่งออกไปอียูจะติดลบ 0.3% มีมูลค่า 21,280 ล้านเหรียญฯ

"ไทยส่งออกไปอียูคิดเป็นสัดส่วน 10.3% ของการส่งออกรวม โดย 90% ของการส่งออกไปอียู ส่งออกไปยังสมาชิกอียูเดิม 15 ประเทศ ซึ่งการถูกตัดสิทธิจีเอสพี ทำให้มูลค่าการส่งออกหายไปประมาณ 848 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 31,000 ล้านบาท และหากรวมกับการถูกแคนาดาและตุรกี ตัดจีเอสพีตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.58 ด้วย จะทำให้มูลค่าส่งออกหายไปรวม 31,592 ล้านบาท หรือประมาณ 0.4% ของการส่งออกรวม"
นายอัทธ์ กล่าว

ส่วนตลาดญี่ปุ่นคาดว่าจะติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยติดลบ 0.5% มูลค่า 21,751 ล้านเหรียญฯ เพราะเศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัวอย่างรวดเร็วในช่วงไตรมาส 2/57 จากการปรับเพิ่มภาษีการบริโภค ขณะที่ตลาดอาเซียนเดิม คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.7% มูลค่า 40,591 ล้านเหรียญฯจากหดตัว 2.9% ในปี 57 เพราะเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเหล่านี้ขยายตัวดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลง แต่เมื่อเทียบกับคู่แข่งแล้ว ไทยไม่ได้เปรียบมากนัก เพราะยังอ่อนค่าน้อยกว่าคู่แข่ง ขณะเดียวกัน การอ่อนค่าของเงินบาททำให้ต้นทุนในการนำเข้าวัตถุดิบสูงขึ้น ทั้งนี้ มองว่า เงินบาทที่ระดับเฉลี่ย 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นระดับที่การส่งออกของไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้
กำลังโหลดความคิดเห็น