xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” แนะ 3 วิธีรับมือถูกตัด GSP ปีหน้า ขอให้ใช้ประโยชน์จากระเบียบภายในอียูเพิ่มยอดส่งออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” แนะ 3 แนวทางใช้ประโยชน์จากระเบียบภายในของอียูในการส่งออกสินค้าไทย หลังไทยจะถูกตัดจีเอสพีทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.58

นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ร่วมกับสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์ ศึกษาระเบียบภายในของสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อหาแนวทางบรรเทาผลกระทบให้แก่ผู้ส่งออกของไทย กรณีที่อียูจะตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ที่ให้แก่สินค้าไทยกว่า 6,200 รายการ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2558 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า มี 3 แนวทางที่ไทยจะใช้ประโยชน์เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการถูกตัดจีเอสพี ได้แก่

1.การขอให้ผู้นำเข้าในประเทศสมาชิกอียู ยื่นเรื่องขอให้อียูลด หรือยกเลิกภาษีฝ่ายเดียวเป็นการชั่วคราวสำหรับสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรม และกำหนดโควตาภาษี โดยมีเงื่อนไขการให้สิทธิที่สำคัญ คือ ต้องเป็นวัตถุดิบ เป็นสินค้าขั้นกลางเน้นสินค้าที่ขาดแคลน และเป็นส่วนประกอบที่นำไปใช้ในกระบวนการผลิตต่อเนื่อง แต่ต้องไม่ใช่สินค้าขั้นสุดท้ายที่ขายตรงให้แก่ผู้บริโภค หรือเพื่อนำไปขายต่อ ทั้งนี้ สินค้าดังกล่าวต้องไม่ใช่สินค้าที่ถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (เอดี และซีวีดี) และไม่เป็นสินค้าตามข้อตกลงไซเตส

2.การนำสินค้าที่ได้ถิ่นกำเนิดในประเทศที่ได้รับสิทธิจีเอสพีมาเก็บไว้ในคลังสินค้าทัณฑ์บน หรือเขตปลอดภาษี (ฟรีโซน) ก่อนส่งไปอียู กล่าวคือ สินค้าที่จะขอรับสิทธิดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไข โดยต้องสำแดงได้ว่ามีถิ่นกำเนิดจากประเทศผู้ได้รับสิทธิ และต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือทำการอื่นใดนอกเหนือจากการรักษาสินค้าให้อยู่ในสภาพดี ซึ่งสินค้าเหล่านั้นสามารถนำไปเก็บ หรือขนผ่านประเทศที่ 3 และแบ่งหีบห่อแล้วส่งไปยังอียูได้ แต่ต้องอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ส่งออก และอยู่ภายใต้การควบคุมของศุลกากรประเทศที่ขนผ่าน

3.การขอให้อียูยกเว้นภาษีเป็นการชั่วคราวสำหรับสินค้าที่นำเข้าไปใช้เป็นวัตถุดิบ หรือส่วนประกอบในอุตสาหกรรมอากาศยานพลเรือนซึ่งเป็นไปตามระเบียบของอียู Council Regulation (EC) No 1147/2002 ลงวันที่ 25 มิ.ย.2545

“กรมฯ ขอแนะนำให้ผู้ส่งออกที่เข้าข่ายตามเงื่อนไขใน 3 ข้อข้างต้น ให้ใช้สิทธิประโยชน์จากระเบียบภายในของอียูในการขอลดหย่อนภาษีในการส่งออกสินค้าไปยังอียู แม้จะสามารถบรรเทาผลกระทบจากการถูกตัดสิทธิจีเอสพีไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็ถือเป็นช่องทางในการลดต้นทุนให้แก่สินค้าไทยได้บางส่วน” นางดวงพร กล่าว

นางดวงพร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสินค้าไทยที่จะส่งออกไปยังอียู และยังได้รับสิทธิจีเอสพีอยู่ในขณะนี้ ผู้ส่งออกจะต้องวางแผนในการส่งออกให้ดี โดยสินค้าที่ส่งออกจากประเทศไทยเข้าไปยังตลาดอียู หน่วยงานศุลกากรของอียูจะต้องได้รับใบขนสินค้า และตรวจปล่อยสินค้าให้แล้วเสร็จภายใน หรือก่อนวันที่ 31 ธ.ค.2557 เท่านั้น เพราะหลังจากวันที่ 1 ม.ค.2558 เป็นต้น สินค้าจะถูกเรียกเก็บภาษีศุลกากรขาเข้าอียูในอัตราปกติทันที ซึ่งกรมฯ ขอให้ผู้ส่งออกใช้เวลาในช่วงที่เหลือให้เกิดประโยชน์สูงสุด


กำลังโหลดความคิดเห็น