แฉเงื่อนงำ ขสมก.ลดราคากลางรถแอร์ ประมูลรถเมล์ NGV เหลือ 3.65 ล้านบาท/คัน จากเดิม 4.5 ล้านบาท ต่ำเกินจริง จับตาไม่มีเอกชนกล้ายื่นแข่งขันเหตุทำไม่ได้จริง สุดท้ายอ้างเหตุล้มประมูลขอใช้ราคาเดิม 4.5 ล้านเพื่อเหลือส่วนต่างกลับเข้าระบบหัวคิว เงินทอน ตามเดิม ขบวนการดิสเครดิตองค์กรอิสระไม่ให้เข้ามาตรวจสอบทุจริตอีก
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยถึงโครงการจัดซื้อรถโดยสารที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) จำนวน 3,183 คัน วงเงิน 13,162.2 ล้านบาทว่า ล่าสุดองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้ประกาศร่างเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) การจัดหารถโดยสารปรับอากาศล็อตแรกจำนวน 489 คัน โดยกำหนดราคากลางรถปรับอากาศ (รถแอร์) ที่ 3.65 ล้านบาท ซึ่งปรับลดลงจากเดิมที่ 4.5 ล้านบาทต่อคัน และกำหนดเปิดจำหน่ายเอกสารประกวดราคาระหว่างวันที่ 13-21 มกราคม กำหนดให้ยื่นข้อเสนอวันที่ 27 มกราคม 2558 และกำหนดแข่งขันราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ (อี-ออกชัน) วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2558 นั้น อาจจะไม่มีผู้ซื้อซองประมูล เนื่องจากราคากลางที่ปรับลดลงไม่สะท้อนข้อเท็จจริงเป็นราคากลางที่ต่ำเกินไป ซึ่งการสืบราคากลางของคณะกรรมการราคากลาง ที่มีนางปราณี ศุกระศร กรรมการและรักษาการผู้อำนวยการ ขสมก.เป็นประธาน ยังไม่ถูกต้อง เช่น สืบราคาสเปกรถชานต่ำ (Low Floor) จากค่ายรถรายใหญ่ของจีน แต่เป็นรถที่เครื่องยนต์เป็นยูโร 5 ซึ่งมีการปรับเป็นยูโร 3 ตามคุณสมบัติของรถเมล์ NGV จึงมีการลดราคาลง 15% ซึ่งในความเป็นจริงไม่สามารถทำได้ที่จะเอาราคารถทั้งคันมาตัดลง 15% เพราะราคาที่ตัดเป็นเรื่องของเครื่องยนต์ซึ่งมีต้นทุนในการผลิตที่ 20% ของตัวรถทั้งหมด เป็นต้น
ทั้งนี้ ตัวแทนจากองค์กรอิสระและภาคเอกชนได้ให้ความเห็นคัดค้านไปแล้ว แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง ทำให้มีการประกาศราคากลางลดลงจนต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งเป็นเรื่องที่ ขสมก.ต้องการแสดงให้สังคมเห็นว่าได้พยายามปรับลดราคากลางลง หลังจากที่ถูกครหาเรื่องทุจริตและกำหนดราคาที่ 4.5 ล้านบาทต่อคันแพงเกินไป แต่ต้องจับตาดูว่าการลดราคากลางเหลือ 3.65 ล้านบาทต่อคันดังกล่าวเป็นราคาที่จะไม่มีเอกชนกล้ายื่นประมูล ซึ่งในแวดวงผู้ประกอบการรถโดยสารทราบกันดีว่าเรื่องนี้มีเงื่อนงำอยู่เบื้องหลัง คือ ต้องการให้การประมูลรถเมล์ NGV ครั้งนี้ล้มเหลว โดยอ้างว่าราคา 3.65 ล้านบาทไม่มีผู้ประมูลเพื่อกลับไปสู่ราคาที่ 4.5 ล้านบาทต่อคันตามเดิม
แหล่งข่าวกล่าวว่า ข้อเท็จจริงเรื่องราคากลาง 4.5 ล้านบาท ซึ่ง ขสมก.กำหนดไว้เดิมสูงเกินไป เพราะมีกระบวนการตัดค่าดำเนินการเข้ามาร่วมเพื่อหวังผลประโยชน์ในโครงการรวมอยู่ด้วย โดยมีส่วนเกินอยู่คันละ 3-3.5 แสนบาทต่อคัน ซึ่งเป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่วางโครงการไว้ตั้งแต่ต้นสมัยรัฐบาลชุดที่แล้ว และยังมีสายสัมพันธ์กับผู้บริหาร ขสมก.ในปัจจุบันอยู่ ในขณะที่มีข้อมูลว่าราคารถที่เหมาะสม ผู้ประกอบการสามารถยื่นแข่งขันประมูลได้คือที่ 4.2 ล้านบาทต่อคัน โดยเป็นราคาที่ผลิตรถได้จริง โดยราคา FOB รถสำเร็จรูปทั้งคันถ้าซื้อในปริมาณมากจะอยู่ที่ประมาณ 72,000 เหรียญสหรัฐ รวมค่าขนส่ง รวมค่าประกัน ภาษี จะอยู่ที่ประมาณ 3.55 ล้านบาท (ราคาต้นทุน) ดังนั้นราคากลางที่ 4.2 ล้านบาทเป็นราคาที่มีช่องว่างที่สามารถแข่งขันอี-ออกชันลดลงได้ที่ประมาณ 4.05-4.1 ล้านบาทต่อคัน ขณะที่ราคา 4.5 ล้านบาทต่อคัน
อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวคงต้องรอดูหลังเปิดประมูลว่าออกมาอย่างไร ซึ่งหากไม่มีผู้ประมูล ด้วยเหตุผลราคากลางที่ ขสมก.กำหนด 3.65 ล้านบาทต่ำเกินไป ถือว่า ขสมก.มีเงื่อนงำในการกำหนดราคา ขสมก. โดยต้องการให้กระทบต่อกระบวนการตรวจสอบทุจริต คอร์รัปชันขององค์กรอิสระต่างๆ เช่น คณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชุดเฝ้าระวังโครงการจัดซื้อรถเมล์ NGV 3,183 คัน สมาคมคนพิการ กลุ่มองค์กรไม่แสวงหากำไร (NGO) นักวิชาการ คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) และภาคประชาชน ซึ่งได้เข้ามาตรวจสอบโครงการก่อนหน้านี้ โดยจะทำให้ประชาชนเข้าใจได้ว่าเข้ามาตรวจสอบแล้วทำให้ภาครัฐเสียหาย ซึ่งไม่เป็นความจริง