ทช.เตรียมเสนอของบปี 59 ศึกษารายละเอียดโครงการก่อสร้างสะพานสนามบินน้ำ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อมโครงข่ายถนนราชพฤกษ์ -สนามบินน้ำ-ติวานนท์และวิภาวดีรังสิต แบ่งเบาการจราจรและเพิ่มทางเลือกเดินทาง ยันหาทางเวนคืนให้กระทบประชาชนน้อยที่สุด
นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า ทช.กำลังเตรียมแผนงานโครงการสะพานสนามบินน้ำ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาและโครงข่ายถนนต่อเชื่อม ระหว่างถนนราชพฤกษ์ ทางด้านตะวันตก และถนนสนามบินน้ำ ทางด้านตะวันออกเพื่อเสนองบประมาณในการทำการศึกษารายละเอียดโครงการในปี 2559 วงเงินประมาณ 5-6 ล้านบาทซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นหนึ่งในแผนแม่บทโครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) โดยมีระยะเวลาศึกษารายละเอียด 1 ปี
ทั้งนี้ การศึกษาเบื้องต้น โครงการสะพานสนามบินน้ำ จะประกอบด้วย โครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาและโครงข่ายถนนต่อเชื่อมระหว่างถนนราชพฤกษ์ ทางด้านตะวันตก และถนนสนามบินน้ำ ทางด้านตะวันออก เชื่อมต่อถนนติวานนท์และถนนวิภาวดีรังสิต มีวัตถุประสงค์ช่วยกระจายปริมาณการจราจรจากสะพานพระนั่งเกล้า และสะพานพระราม 4 โดยประมาณการลงทุนรวม 33,603 ล้านบาทแบ่งเป็นค่าก่อสร้างรวม 9,574 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรวม 25,278 ล้านบาท
ประกอบด้วยตอนที่ 1 ช่วงถนนกาญจนาภิเษก (ด้านตะวันตก) ถึง ถนนราชพฤกษ์ ค่าก่อสร้าง 813 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 5,553 ล้านบาท รวม 6,366 ล้านบาท, ตอนที่ 2 ถนนราชพฤกษ์ ถึงถนนติวานนท์ ค่าก่อสร้าง 3,386 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 5,505 ล้านบาท รวม 8,891 ล้านบาท , ตอนที่ 3 ถนนติวานนท์ถึงถนนวิภาวดีรังสิต ค่่าก่อสร้าง 4,126 ล้านบาทค่าเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 14,220 ล้านบาท รวม 18,346 ล้านบาท
"สะพานสนามบินน้ำ ถือเป็นโครงการที่มีความสำคัญในลำดับต้นๆ ที่จะช่วยระบายการจราจรข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นมาก โดยแนวเส้นทางถนนเชื่อมต่ออาจจะต้องผ่านชุมชน ทำให้งบเวนคืนค่อนข้างสูง ซึ่งเมื่อได้ศึกษารายละเอียดแล้วจะพิจารณาความเหมาะสมและหาแนวทางที่จะลดผลกระทบต่อประชาชนให้เดือดร้อนน้อยที่สุด"
ส่วนความคืบหน้าโครงการก่อสร้างถนนต่อเชื่อมถนนราชพฤกษ์ -ถนนกาญจนาภิเษก (แนวเหนือ-ใต้) ระยะทางรวม 14.7 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ระหว่างเวนคืนที่ดิน โดยได้รับงบประมาณเวนคืน 2,500 ล้านบาท และจะดำเนินการเรียบร้อยภายในปี 2558 ส่วนการก่อสร้างจะเสนอของบประมาณปี 2559 เพื่อดำเนินการ วงเงินประมาณ 9,231 ล้านบาท แบ่งการก่อสร้างเป็น 4 ตอน ใช้เวลาก่อสร้าง 3-4 ปี แล้วเสร็จในปี 2562