ปตท.จ่อผุดโครงการแอลเอ็นจี เทอร์มินอล เฟส 3 อีก 5 ล้านตัน ที่นิคมฯ มาบตาพุด เตรียมยื่นรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในเร็วๆ นี้ ส่วนจะก่อสร้างเมื่อใดขอดูแผนพีดีพี 2015 ก่อนเพื่อประเมินความต้องการใช้ก๊าซฯ ในอนาคต
นายภานุ สุทธิรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ปตท. เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างเตรียมยื่นรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อสร้างสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี เทอร์มินอล) เฟส 3 อีก 5 ล้านตัน/ปี ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งอยู่ใกล้กับพื้นที่สถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลวเฟส 1 และเฟส 2
คาดว่าจะยื่น EIA และได้รับการอนุมัติภายใน 1-2 ปีนี้
ส่วนการดำเนินโครงการก่อสร้างแอลเอ็นจี เทอร์มินอล เฟส 3 จะดำเนินการก่อสร้างเมื่อใดขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐ เนื่องจากปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการก่อสร้างแอลเอ็นจี เทอร์มินอล เฟส 2 ขนาด 5 ล้านตัน/ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2560 เพื่อรองรับความต้องการใช้แอลเอ็นจีที่เพิ่มสูงขึ้นในการผลิตไฟฟ้า หลังจากปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะลดลงในอนาคต
รวมทั้งแหล่งก๊าซฯ ในพม่าก็มีแนวโน้มป้อนเข้าสู่ไทยลดลงเช่นกัน ทำให้ไทยต้องพึ่งพาแอลเอ็นจีเพิ่มสูงขึ้น
“โครงการแอลเอ็นจี เทอร์มินอล เฟส 2-3 มีการออกแบบให้สามารถรองรับ และจ่ายก๊าซแอลเอ็นจีไปให้แก่ลูกค้าในภูมิภาคนี้ในอนาคต หากความต้องการใช้แอลเอ็นจีในภูมิภาคนี้เพิ่มสูงขึ้นก็จะเป็นโอกาสในการทำตลาดได้” แหล่งข่าวจากพีทีที แอลเอ็นจี กล่าว
นายภานุ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ ปตท.อยู่ระหว่างรอความชัดเจนของแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าปี 2558-2579 (พีดีพี 2015) เพื่อที่จะวางแผนงานการจัดหาแอลเอ็นจี และการสร้างแอลเอ็นจี เทอร์มินอล เพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซฯ ที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต
นอกเหนือจากการนำแอลเอ็นจีไปใช้ในโรงไฟฟ้าแล้ว ขณะนี้มีบางโรงงานนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในภาคอุตสาหกรรม เช่น โรงงานผลิตเหล็ก มีการนำรถบรรทุกมาบรรจุแอลเอ็นจีเพื่อใช้ในโรงงานด้วย
เมื่อเร็วๆ นี้ ปตท.ได้รับมอบแอลเอ็นจีจากกาตาร์แก๊สตามสัญญาซื้อขายแอลเอ็นจีระยะยาว 20 ปีเที่ยวแรกกว่า 9 หมื่นตัน โดยปีนี้จะกาตาร์แก๊สจะทยอยส่งแอลเอ็นจีตามสัญญาซื้อขายปีละ 2 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการใช้แอลเอ็นจีของไทยปีนี้อยู่ที่ 2.5 ล้านตัน ลดลงจากเป้าหมายเดิมที่คาดว่าปีนี้จะนำเข้าแอลเอ็นจีสูงถึง 5 ล้านตัน/ปี
อย่างไรก็ตาม ทิศทางราคาแอลเอ็นจีได้ปรับตัวลดลงมากตามทิศทางราคาน้ำมันดิบ ทำให้แอลเอ็นจีที่นำเข้าจากกาตาร์แก๊สนี้มีราคาใกล้เคียงกับราคาก๊าซฯ ที่นำเข้ามาจากแหล่งยาดานา และแหล่งเยตากุน ที่พม่า เนื่องจากสัญญาซื้อขายแอลเอ็นจีระยะยาวกับกาตาร์แก๊สอิงราคาน้ำมันดิบ