คมนาคม MOU ร่วมกับกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องป้องกันปัญหาการปล่อยโคมลอย/โคมควัน และบั้งไฟ ดันเป็นวาระแห่งชาติ หวั่นเกิดอันตรายต่ออากาศยานกระทบเชื่อมั่นความปลอดภัยของน่านฟ้าไทย ทำให้สูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจมหาศาล
วันนี้ (8 ม.ค.) พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การป้องกันและลดความเสี่ยงอันตรายต่อการบินและอากาศยานจากการปล่อยโคมลอย โคมควัน และการจุดบั้งไฟ ระหว่างกระทรวงคมนาคม, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงกลาโหม, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงวัฒนธรรม, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฯลฯเพื่อกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นและร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว และจะแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างหน่วยงาน โดย สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม จะเป็นหน่วยงานประสานและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ซึ่งบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ ปี 2557-2561
พล.อ.อ. ประจินเปิดเผยว่า จากรายงานของบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) พบว่า ในปี 2557 มีการแจ้งพบบั้งไฟและโคมลอยขณะทำการบินโดยนักบินไม่ได้รับแจ้งเตือนล่วงหน้า ในระดับความสูงถึง 20,000 ฟุต ซึ่งเป็นระดับเพดานบินของเครื่องบินโดยสารทั่วไปจำนวนมาก โดยกระทรวงคมนาคมจะเร่งจัดทำแผนที่กำหนดพื้นที่โซนนิ่งพื้นที่ควบคุมและเฝ้าระวังเป็นพิเศษบริเวณโดยรอบสนามบิน เพื่อใช้ประกอบการจัดทำประกาศขอความร่วมมือประชาชนห้ามปล่อยโคมลอยและโคมควันต่อไป พร้อมทั้งจะเร่งผลักดันกฎหมายให้สามารถควบคุมหากมีการฝ่าฝืน โดยให้กระทรวงมหาดไทยแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืนให้ควบคุมการจุดบั้งไฟและตะไลด้วย โดยในเบื้องต้นกระทรวงคมนาคมอาจจะออกประกาศควบคุมก่อน
ปัจจุบันการปล่อยโคมลอย โคมควัน และการจุดบั้งไฟ มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอัคคีภัยและเกิดอันตรายร้ายแรงต่อการบินและอากาศยาน เนื่องจากมีการปล่อยโคมลอยและโคมควันเป็นจำนวนมากในจังหวัดทางภาคเหนือ โดยในช่วงเทศกาลลอยกระทงที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 5-9 พฤศจิกายน 2557 รวม 5 วัน มีสถิติการแจ้งการปล่อยโคมเพื่อประกาศแจ้งเตือนนักบินหรือประกาศ NOTAM มากถึง 12,704 โคม ซึ่งไม่รวมการปล่อยโคมลอยโดยไม่แจ้งอีกมาก กระทรวงคมนาคมได้มีมาตรการยกเลิกเที่ยวบินในเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่-กรุงเทพฯ หลังเวลา 18.00 น. ส่วนการจุดบั้งไฟจะมีการจุดกันมากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ของทุกปี โดยในปีนี้มีการแจ้งการจุดบั้งไฟมากถึง 47,923 บั้ง และมีเที่ยวบินพบเห็นบั้งไฟขณะทำการบินจำนวน 107เที่ยวบิน
“การประกาศแจ้งเตือนนักบินในปัจจุบันมีข้อมูลไม่เป็นไปตามที่ได้รับแจ้งเนื่องจากมีการจุดบั้งไฟเกินความสูง และมีจำนวนมากกว่าที่แจ้ง ตำแหน่งที่จุดบั้งไฟไม่ตรงกับพื้นที่ที่ระบุ ทำให้มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอันตรายต่ออากาศยาน บางสายการบินได้ทำการเปลี่ยนเส้นทางการบินเพื่อหลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะหากปัญหาการปล่อยโคมลอย โคมควัน และการจุดบั้งไฟ ทำให้เกิดความเสียหายต่ออากาศยาน สูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของผู้โดยสารแล้ว ยังส่งผลให้สายการบินขาดความเชื่อมั่นต่อระบบความปลอดภัยในการเดินอากาศของประเทศไทย และในระยะยาวอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศที่จะสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยว และรายได้อื่นๆ มหาศาล” พล.อ.อ.ประจินกล่าว