“คมนาคม” จ่อชง คสช.ออกประกาศเร่งด่วนแก้ไขปัญหา บั้งไฟ โคมลอย โคมควันที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยในการเดินอากาศ เพื่อเป็นฐานให้กรมการบินพลเรือนออกประกาศ และบทลงโทษได้ เผยปัจจุบันไม่มีกฎหมายจับกุม ทำให้แก้ปัญหาไม่เด็ดขาด
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมวันนี้ (31 ต.ค.) ว่า ได้ติดตามการแก้ไขปัญหา บั้งไฟ โคมลอย โคมควันที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยในการเดินอากาศ ซึ่งได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ รวมถึงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี พล.ต.ท.วรศักดิ์ นพสิทธิพร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ซึ่งในเทศกาลลอยกระทงนี้ ได้กำหนดมาตรการในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจถึงผลกระทบและอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่ทั้งประชาชนเอง บ้านเรือน และอากาศยาน ส่วนมาตรการเพิ่มเติมที่ต้องดำเนินการนั้น จะต้องมีการสำรวจรายละเอียดของโคมลอย โคมควัน และบั้งไฟในลักษณะต่างๆ ในปัจจุบันว่ามีการเปลี่ยนแปลงจากอดีตอย่างไร มีอันตรายมากขึ้นแค่ไหน และพื้นที่ที่จะเกิดผลกระทบจากการกระทำโดยเจตนาหรือไม่เจตนา
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้คณะทำงานฯ เร่งหาข้อสรุปแนวทางและมาตรการเร่งด่วนในการบังคับใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งเบื้องต้นมี 3 แนวทาง คือ ออกเป็นประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือใช้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกประกาศเพิ่มเติมเป็นกฎกระทรวง หรือรอการแก้ไขพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 โดยให้คณะทำงานเสนอเข้ามา ซึ่งจะมีการเก็บข้อมูลประกอบอีกครั้งจากเทศกาลลอยกระทง
นายวรเดช หาญประเสริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ด้านอำนวยการ ในฐานะรองประธานคณะทำงานแก้ไขปัญหา บั้งไฟ โคมลอย โคมควันที่มีผลกระทบต่อการบินของประเทศ กล่าวว่า คณะทำงานฯ จะประชุมในวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้เพื่อสรุปแนวทางที่ชัดเจน โดยคาดว่าจะเสนอให้ออกประกาศ คสช.เพื่อใช้เป็นฐานกฎหมายให้อำนาจอธิบดีกรมการบินพลเรือน (บพ.) ในการออกประกาศกรมการบินพลเรือนกำหนดเป็นข้อบังคับและบทลงโทษ โดยจะกำหนดลักษณะ ขนาด เวลา ของวัตถุที่ปล่อยและเขตพื้นที่ ส่วนบทลงโทษคาดว่าจะปรับสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งต้องยอมรับว่าปัจจุบันไม่มีข้อกฎหมายบังคับจึงเป็นลักษณะของการขอความร่วมมือเท่านั้น ซึ่งเมื่อเกิดเหตุขึ้นไม่มีความผิดและบทลงโทษรองรับ
“การออกประกาศบังคับนั้น เป็นมาตรการที่ยั่งยืนมากกว่าการขอความร่วมมือ ซึ่งในช่วงเทศกาลลอยกระทงนี้สายการบินต้องยกเลิกเที่ยวบินจำนวนมาก ถือเป็นการสูญเสียรายได้ด้านการท่องเที่ยว ซึ่งในส่วนของ บพ.ได้มีข้อมูลรวบรวมไว้แล้ว และหารือร่วมกับทางบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. แล้ว หากที่คณะทำงานฯ ได้ข้อสรุป สามารถนำเสนอตามขั้นตอนออกประกาศ คสช.ได้ทันที”