xs
xsm
sm
md
lg

น้ำมันลง มหกรรมลดราคาสินค้า เงินถึงมือชาวนา ชาวสวนยาง ดันดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ธ.ค.ดีขึ้น สูงสุด 18 เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ธ.ค.ปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ และสูงสุดในรอบ 18 เดือน หลังได้รับอานิสงส์น้ำมันลด มหกรรมลดราคาสินค้า เงินช่วยชาวนา ชาวสวนยางถึงมือ เผยน้ำมันลงแรง ช่วยคนไทยประหยัดเฉพาะ ธ.ค.เดือนเดียว 5 พันล้าน ทั้งปี 1.2 แสนล้าน ส่วนปี 58 คาดน้ำมันยังลงต่อ ช่วยประหยัดได้สูงถึง 1.5-1.8 แสนล้าน ดันเศรษฐกิจปีนี้โตตามเป้า 3.5-4%

นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ธ.ค. 2557 ปรับตัวลดลงทุกรายการ โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมอยู่ที่ 81.1 เพิ่มขึ้นจาก 79.4 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ที่ 61.2 เพิ่มขึ้นจาก 60.0 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตอยู่ที่ 88.7 เพิ่มขึ้นจาก 86.7 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 70.5 เพิ่มขึ้นจาก 68.8 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำอยู่ที่ 74.6 เพิ่มขึ้นจาก 73.1 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 98.3 เพิ่มขึ้นจาก 96.3

ปัจจัยบวกที่ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น มาจากการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.0% ต่อปี ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับลดลง โดยแก๊สโซฮอล์ลดลงประมาณ 3.70 บาทต่อลิตร ดีเซลลดลงประมาณ 2.50 บาทต่อลิตร การจัดมหกรรมลดราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์เป็นเวลา 7 วัน ลดราคา 20-70% ทำให้การจับจ่ายใช้สอยดีขึ้น

ส่วนปัจจัยลบ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดประมาณการอัตราขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2557 ลงเหลือ 0.8% ปี 2558 เหลือ 4% จากเดิม 4.8% สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดว่าจะโตแค่ 0.9-1% จากเดิม 1.2-1.7% การส่งออกในเดือน พ.ย. 2557 ลดลง 1% และรวม 11 เดือนติดลบ 0.4% ขาดดุลการค้า 1,564 ล้านเหรียญสหรัฐ ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงประมาณ 96 จุด เงินบาทที่อ่อนค่าลง และผู้บริโภคยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาราคาสินค้าและค่าครองชีพที่ยังทรงตัวในระดับสูง

อย่างไรก็ตาม เมื่อหักปัจจัยลบกับปัจจัยบวกแล้ว ปัจจัยบวกมีน้ำหนักมากกว่า ส่งผลให้ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นอีกครั้งในเดือน ธ.ค. 2557 หลังจากที่ปรับลดลงในเดือน พ.ย. 2557 ที่ผ่านมา

สำหรับผลสำรวจภาวการณ์ทางสังคม พบว่าปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน โดยดัชนีความสุขในการดำรงชีวิตอยู่ที่ระดับ 96.9 สูงสุดในรอบ 58 เดือน นับตั้งแต่ ก.พ. 2552 ดัชนีภาวะค่าครองชีพอยู่ที่ 69.5 สูงสุดในรอบ 104 เดือน ตั้งแต่ พ.ค. 2549 เนื่องจากราคาน้ำมันลดลง แต่ประชาชนยังรู้สึกว่าภาวะค่าครองชีพยังสูงกว่าระดับปกติ ขณะที่ความคิดเห็นต่อสถานการณ์การเมืองปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 8 มาอยู่ที่ระดับ 100.1 เป็นการเกินระดับ 100 เป็นครั้งแรก และสูงสุดในรอบ 104 เดือน ตั้งแต่ พ.ค. 2549 ขณะที่ 3 เดือนข้างหน้าคนยังมองว่าเสถียรภาพการเมืองจะมีมากขึ้น โดยดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 106.8 สูงสุดในรอบ 104 เดือน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นอีกครั้ง และสูงสุดในรอบ 18 เดือน นับจากเดือน ก.ค. 2556 หลังจากราคาน้ำมันปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะเดือน ธ.ค. 2557 การลดลงของราคาน้ำมันทำให้สามารถประหยัดเงินลงได้ประมาณ 5,000 ล้านบาท และหากเทียบจากเดือน มิ.ย. 2557 ซึ่งน้ำมันอยู่ที่ประมาณ 100 เหรียญต่อบาร์เรล มาอยู่ที่เฉลี่ย 60 เหรียญต่อบาร์เรลในเดือน ธ.ค. ทำให้ประหยัดเงินได้ประมาณ 10,000 ล้านบาท หรือปีละ 120,000 ล้านบาท สามารถช่วยให้เศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 0.5%

ทั้งนี้ คาดว่าในช่วงครึ่งแรกปี 2558 ราคาน้ำมันจะปรับลดลงอีกไปอยู่ที่ประมาณ 40 เหรียญต่อบาร์เรล จะมีผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศลดลงอีกประมาณ 2 บาทต่อลิตร ซึ่งจะทำให้มีเงินเหลือในประเทศเพิ่มเป็น 1.5-1.8 แสนล้านบาท จะส่งผลให้เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่าครึ่งปีแรกเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ในกรอบ 2.5-3% ครึ่งปีหลัง 4.5-5% รวมทั้งปีจะโตได้ 3.5-4%

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ธ.ค.ยังเป็นแค่เดือนเดียว และเกิดจากปัจจัยบวกเฉพาะกิจ ทั้งการลดลงของราคาน้ำมัน การจัดมหกรรมลดราคาสินค้า การจ่ายเงินแก่ชาวนาและชาวสวนยางพารา จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะดีขึ้นอย่างยั่งยืน แต่จากสัญญาณพบว่ามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น