xs
xsm
sm
md
lg

น้ำมันลงดันดัชนีเชื่อมั่นดีดตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธ.ค.ปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ และสูงสุดในรอบ 18 เดือน หลังได้รับอานิสงค์น้ำมันลด มหกรรมลดราคาสินค้า เงินช่วยชาวนา ชาวสวนยางถึงมือ เผยน้ำมันลงแรง ช่วยคนไทยประหยัดเฉพาะธ.ค.เดือนเดียว 5 พันล้าน ทั้งปี 1.2 แสนล้าน ส่วนปี 58 คาดน้ำมันยังลงต่อ ช่วยประหยัดได้สูงถึง 1.5-1.8 แสนล้าน ดันเศรษฐกิจปีนี้โตตามเป้า 3.5-4%

นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ธ.ค.2557 ปรับตัวลดลงทุกรายการ โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมอยู่ที่ 81.1 เพิ่มขึ้นจาก 79.4 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ที่ 61.2 เพิ่มขึ้นจาก 60.0 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตอยู่ที่ 88.7เพิ่มขึ้นจาก 86.7 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 70.5 เพิ่มขึ้นจาก 68.8 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำอยู่ที่ 74.6 เพิ่มขึ้นจาก 73.1 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 98.3 เพิ่มขึ้นจาก 96.3

ปัจจัยบวกที่ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น มาจากการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.0% ต่อปี ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่รับลดลง โดยแก๊สโซฮอล์ลดลงประมาณ 3.70 บาทต่อลิตร ดีเซลลดลงประมาณ 2.50 บาทต่อลิตร การจัดมหกรรมลดราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์ เป็นเวลา 7 วัน ลดราคา 20-70% ทำให้การจับจ่ายใช้สอยดีขึ้น

ส่วนปัจจัยลบ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดประมาณการอัตราขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2557 ลงเหลือ 0.8% ปี 2558 เหลือ 4% จากเดิม 4.8% สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดว่าจะโตแค่ 0.9-1% จากเดิม 1.2-1.7% การส่งออกในเดือน พ.ย.2557 ลดลง 1% และรวม 11 เดือน ติดลบ 0.4% ขาดดุลการค้า 1,564 ล้านเหรียญสหรัฐ ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงประมาณ 96 จุด เงินบาทที่อ่อนค่าลง
และผู้บริโภคยังมีความวอตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาราคาสินค้าและค่าครองชีพที่ยังทรงตัวในระดับสูง

อย่างไรก็ตาม เมื่อหักปัจจัยลบกับปัจจัยบวกแล้ว ปัจจัยบวกมีน้ำหนักมากกว่า ส่งผลให้ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นอีกครั้งในเดือน ธ.ค.2557 หลังจากที่ปรับลดลงในเดือน พ.ย.2557 ที่ผ่านมา

สำหรับผลสำรวจภาวการณ์ทางสังคม พบว่า ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน โดยดัชนีความสุขในการดำรงชีวิต อยู่ที่ระดับ 96.9 สูงสุดในรอบ 58 เดือน นับตั้งแต่ ก.พ.2552 ดัชนีภาวะค่าครองชีพ อยู่ที่ 69.5 สูงสุดในรอบ 104 เดือน ตั้งแต่ พ.ค.2549 เนื่องจากราคาน้ำมันลดลง แต่ประชาชนยังรู้สึกว่าภาวะค่าครองชีพยังสูงกว่าระดับปกติ ขณะที่ความคิดเห็นต่อสถานการณ์การเมือง ปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 8 มาอยู่ที่ระดับ 100.1 เป็นการเกินระดับ 100 เป็นครั้งแรก และสูงสุดในรอบ 104 เดือน ตั้งแต่ พ.ค.2549 ขณะที่ 3 เดือนข้างหน้า คนยังมองว่าเสถียรภาพการเมืองจะมีมากขึ้น โดยดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 106.8 สูงสุดในรอบ 104 เดือน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นอีกครั้ง และสูงสุดในรอบ 18 เดือน นับจากเดือนก.ค.2556 หลังจากราคาน้ำมันปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะเดือน ธ.ค.2557 การลดลงของราคาน้ำมัน ทำให้สามรถประหยัดเงินลงได้ประมาณ 5,000 ล้านบาท และหากเทียบจากเดือน มิ.ย.2557 ซึ่งน้ำมันอยู่ที่ประมาณ 100
เหรียญต่อบาร์เรล มาอยู่ที่เฉลี่ย 60 เหรียญต่อบาร์เรล ในเดือน ธ.ค. ทำให้ประหยัดเงินได้ประมาณ 10,000 ล้านบาท หรือปีละ 120,000 ล้านบาท สามารถช่วยให้เศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 0.5%

ทั้งนี้ คาดว่าในช่วงครึ่งปีแรก 2558 ราคาน้ำมันจะปรับลดลงอีก ไปอยู่ที่ประมาณ 40 เหรียญต่อบาร์เรล จะมีผลให้ราคาน้ำมันขายปลักในประเทศลดลงอีกประมาณ 2 บาทต่อลิตร ซึ่งจะทำให้มีเงินเหลือในประเทศเพิ่มเป็น 1.5-1.8 แสนล้านบาท จะส่งผลให้เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่าครึ่งปีแรกเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ในกรอบ 2.5-3% ครึ่งปีหลัง 4.5-5% รวมทั้งปีจะโตได้ 3.5-4%

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ธ.ค. ยังเป็นแค่เดือนเดียว และเกิดจากปัจจัยบวกเฉพาะกิจ ทั้งการลดลงของราคาน้ำมัน การจัดมหกรรมลดราคาสินค้า การจ่ายเงินแก่ชาวนาและชาวสวนยางพารา จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะดีขึ้นอย่างยั่งยืน แต่จากสัญญาณพบว่ามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น