xs
xsm
sm
md
lg

ก.อุตฯ หนุนเกิดโปแตซ-ควอตซ์ปี 58 ชี้ขุมทรัพย์ใหญ่มูลค่ากว่า 200 ล้านล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กระทรวงอุตสาหกรรมพบขุมทรัพย์ใต้ดินไทยมูลค่ากว่า 200 ล้านล้านบาทโดยเฉพาะแร่โปแตซและควอตซ์ วางเป้าหมายปี 2558 จ่อปล่อยสัมปทานโปแตซหลังดองมานาน ยันไร้ผลกระทบสิ่งแวดล้อมช่วยเกษตรกรใช้ปุ๋ยถูกแถมต่อยอดทำเคมีภัณฑ์ พร้อมเปิดพื้นที่ศักยภาพแร่ควอตซ์หวังหนุนไทยผลิตแผงโซลาร์เซลล์ป้อนภูมิภาค จ่อทบทวนนโยบายเหมืองแร่ทองคำใหม่

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปี 2558 กระทรวงอุตสาหกรรมจะผลักดันให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่โปแตซ และการพัฒนาแร่ควอตซ์ให้เกิดขึ้นในไทยเพื่อที่จะนำทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่ามาพัฒนาประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากแร่โปแตซนำมาผลิตเป็นปุ๋ยซึ่งจะทำให้ราคาปุ๋ยของไทยมีต้นทุนต่ำลงเป็นผลดีต่อเกษตรกรไทย แล้วแร่โปแตซยังก่อให้เกิดอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์เป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องตามมา

“ผมคิดว่าปีหน้าคงจะอนุมัติประทานบัตรการทำเหมืองแร่ให้กับบริษัทโปแตซอาเซียน จ.ชัยภูมิได้ ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนที่ขณะนี้บริษัทได้ทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรือ EHIA เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนก็จะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการแร่ภายใต้ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 หลังจากนั้นผมก็จะอนุมัติได้ทันที นอกจากนี้ยังมีอีก 2-3 รายที่อยู่ระหว่างการยื่นขอเช่นกันซึ่งอยู่ที่อุดรธานี และนครราชสีมา ผมคิดว่าถ้าโครงการนี้ขุดแร่ขึ้นมาไม่ได้ในรัฐบาลนี้ก็คงเกิดยากแล้วล่ะ” รมว.อุตสาหกรรมกล่าว

ทั้งนี้ จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่าราคาโปแตซตลาดโลกอยู่ที่ 300 เหรียญสหรัฐต่อตันจากอดีตที่ผ่านมาราคาอยู่ที่เพียง 60 เหรียญต่อตันที่ผ่านมาจึงไม่มีใครสนใจดำเนินการ ขณะที่พบว่าสำรองแร่โปแตซมีจำนวนมากแม้ว่าการพัฒนาแร่โปแตซจะขุดมาใช้เพียง 30% ของปริมาณแร่ที่พบ ซึ่งก็ยังมีมูลค่าสูงถึง 200 ล้านล้านบาทหากเทียบกับงบประมาณที่ไทยจัดทำแต่ละปีเพียง 2 ล้านล้านบาท หากไทยพัฒนาปีละระดับเท่างบประมาณก็จะมีใช้ไปถึง 100 ปี นอกจากนี้แร่โปแตซยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีการผลิตที่สามารถป้องกันปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังมองการพัฒนาแร่ควอตซ์ ที่พบว่าเป็นอีกแร่หนึ่งที่มีศักยภาพในไทยที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างมากและมีสำรองค่อนข้างมากในแถบพื้นที่ตะวันตกของประเทศ เช่น ราชบุรี เพชรบุรี สำรองกว่า 25 ล้านตัน ที่จะนำมาถลุงเป็นซิลิกอน และนำไปผลิตแผงโซลาร์เซลล์ที่จะเอื้อต่ออุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้ต้นทุนต่ำลงและสามารถผลิตป้อนในภูมิภาคได้ โดยขณะนี้มีนักลงทุนจากทั้งไต้หวัน สหรัฐอเมริกา และจีนสนใจที่จะเข้ามาพัฒนาโดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดแนวทางดำเนินการอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น