มุกดาหาร - รมว.อุตสาหกรรม ตรวจเยี่ยมและดูงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร ขณะที่ภาคเอกชนกังวลหลังการลงทุนมากขึ้น หวั่นปัญหาแรงงานที่มีอยู่ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะด้านบริการ การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมต่อเนื่องเกี่ยวกับกิจการเกษตร
วันนี้ (13 ธ.ค.) นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมคณะ ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยม และดูงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดมุกดาหาร ณ ด่านศุลกากรมุกดาหาร สะพานมิตรภาพ 2 และรับฟังบรรยายสรุปการเตรียมความพร้อมของจังหวัด ในการเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดมุกดาหาร โดยมี นายสรสิทธิ์ ฤทธิ์สรไกร รองผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร หัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในจังหวัดมุกดาหาร ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมชั้น 5 ศาลากลางจังหวัด
ในโอกาสนี้ ได้บรรยายสรุปการเตรียมพร้อมด้านต่างๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการตัดสินใจของนักลงทุน ภายหลังการประกาศเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ วันที่ 1 มกราคม 2558 ประกอบด้วย ด้านสาธารณูปโภค ด้านแรงงาน สิทธิพิเศษการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดมุกดาหารแบบเบ็ดเสร็จ ณ ศูนย์ข้อมูลข่าวสารเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดมุกดาหาร ศาลากลางจังหวัดมุกดาหาร ชั้น 1 รวมถึงการซักถามปัญหา และแนวทางแก้ไข
นายธนโชติ โชติบุญยศักดิ์ รองประธานหอการค้าจังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า ปัญหาที่จะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อมีการประกาศเป็นเขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเมื่อมีการลงทุนมากขึ้น คือ ปัญหาแรงงานที่มีอยู่ไม่เพียงพอแน่นอน โดยเฉพาะด้านบริการ การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมต่อเนื่องเกี่ยวกับกิจการเกษตร เนื่องจากจังหวัดมุกดาหาร มีประชากรประมาณ 3 แสน 4 หมื่นคน มีงานเกษตรบางอย่างที่คนไทยไม่ทำ ต้องอาศัยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน
ประกอบกับแขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับจังหวัดมุกดาหาร ก็มีเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษขนาดใหญ่ที่สุดของ สปป.ลาว ซึ่งได้มีนักลงทุนทั้งไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลี รวมถึงสหรัฐอเมริกา เข้าไปลงทุนมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท ปัจจุบัน ก็ขาดแคลนแรงงานเช่นกัน โดยเฉพาะแรงงานฝีมือ สำหรับแนวทางแก้ไขอยากให้รัฐบาลผ่อนผันแรงงานต่างด้าวประเทศที่ 4 คือ เวียดนาม สามารถเข้ามาทำงานในเขตพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดมุกดาหารได้
โดยเฉพาะเมืองคู่แฝดจังหวัดมุกดาหาร เมืองกวางตรี ซึ่งอยู่ห่างจากจังหวัดมุกดาหาร ประมาณ 200 กิโลเมตรเศษ และที่จังหวัดมุกดาหารเองมีคนไทยเชื้อสายเวียดนามซึ่งประกอบกิจการด้านอุตสาหกรรม และอาศัยอยู่จำนวนไม่น้อย
ในขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รับที่จะนำข้อเสนอของผู้ประกอบการจังหวัดมุกดาหาร หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีหลายกระทรวงว่าจะดำเนินการได้หรือไม่อย่างไร และมองว่า จังหวัดมุกดาหารไม่เหมาะต่อการเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรม เนื่องจากมีวัตถุดิบจำกัด และส่วนใหญ่เป็นผลผลิตทางด้านเกษตร เช่น อ้อย มันสำปะหลัง และยางพารา ส่วนที่เหมาะสมที่สุดในการลงทุนอุตสาหกรรม นอกจากอุตสาหกรรมบริการ การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมต่อเนื่องจากกิจการเกษตร เช่น การแปรรูปเพื่อส่งออก
เช่น น้ำตาล และยางพาราแล้ว คือ อุตสาหกรรมด้านลอจิสติกส์ หรือการขนส่ง คือ นอกจากใช้แรงงานน้อย ยังได้เปรียบกว่าการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดอื่นๆ เนื่องด้วยตั้งอยู่บนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกสู่ตะวันตก ประตูสู่อินโดจีน โดยมีสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 เป็นสะพานเศรษฐกิจเชื่อมระหว่างประเทศพม่า ไปยังลาว เวียดนาม และสามารถเชื่อมโยงไปถึงตอนใต้ของจีน เช่น เมืองฉงจั่ว ซึ่งเป็นเมืองคู่ค้ากับจังหวัดมุกดาหาร และอยู่ห่างจากจังหวัดมุกดาหารประมาณ 1,300 กิโลเมตร
ที่สำคัญคือ ตรงข้ามจังหวัดมุกดาหาร มีแขวงสะหวันนะเขต ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 ของ สปป.ลาว ที่มีประชาชนกว่าล้านคน และมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ในอนาคตจะมีการขนส่งมากขึ้น และนับตั้งแต่มีการเปิดใช้สะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา มีสินค้าผ่านแดนโดยการขนส่งทางรถยนต์ผ่านสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 ทั้งนำเข้า และส่งออกมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามลำดับ
สำหรับจังหวัดมุกดาหาร เป็นหนึ่งใน 5 จังหวัดนำร่องที่ได้ประกาศเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ในพื้นที่ 3 อำเภอ 11 ตำบล ตามแนวชายแดนแม่น้ำโขง ได้แก่ อำเภอหว้านใหญ่ 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลหว้านใหญ่ ตำบลบางทรายน้อย ตำบลชโนด และตำบลป่งขาม อำเภอเมืองมุกดาหาร 5 ตำบล ได้แก่ ตำบลมุกดาหาร ตำบลบางทรายใหญ่ ตำบลนาสีนวล ตำบลศรีบุญเรืองและตำบลคำอาฮวน อำเภอดอนตาล 2 ตำบล ได้แก่ ตำบลดอนตาล และตำบลโพธิ์ไทร รวมพื้นที่ 365,000 พันไร่เศษ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป