“จักรมณฑ์” ชี้อุตสาหกรรมไทยยังติดปัญหา กม.ล้าสมัย แนะจะยั่งยืนต้องมีนวัตกรรมคู่ R&D ระบุต่างชาติหนีไปกระจายเสี่ยงลงทุนในประเทศรอบๆ ไทยแทน หมดยุคเป็นดาวเด่นในภูมิภาค จี้ต้องเร่งปรับตัว
นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แสดงปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “อนาคตเศรษฐกิจไทยหลังปฏิรูปอุตสาหกรรม” ว่า ตัวชี้วัดว่าอุตสาหกรรมของไทยเวลานี้อยู่ในระดับใดนั้น ควรดูจาก 3 ด้าน ได้แก่ 1. วุฒิภาวะของอุตสาหกรรมไทย สามารถแยกได้ คือ นโยบายของภาครัฐว่ามีความเสถียรหรือไม่ ซึ่งตรงนี้ ประเทศไทยทำได้ค่อนข้างดี ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างไร ประเทศไทยเราไม่เคยเปลี่ยนนโยบายด้านอุตสาหกรรม ยังคงยึดมั่นการทำวิสาหกิจเสรีตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจตลอดมา แม้ว่าบางครั้งจะมีมาตรการแทรกแซงที่ทำให้เกิดปัญหาบ้าง เช่น รถคันแรก จำนำข้าว แต่โดยหลักการแล้วเรายังคงยึดแนวทางเดิมไว้เสมอ
ต่อมาคือกฎระเบียบรองรับกิจการอุตสาหกรรมหรือไม่ นี่ถือเป็นหนึ่งในปัญหาของไทย เพราะกฎหมายหลายตัวล้าสมัยแล้ว จำเป็นต้องแก้ รวมถึงทัศนคติของพนักงานภาครัฐบางคนและบางหน่วยงานก็ต้องแก้ควบคู่กันไป ข้อต่อมาคือสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน ปัจจัยนี้ถ้ารองรับไม่ทันการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมก็ยากจะเกิดการเติบโตทางอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่น เมื่อ 30 ปีที่แล้วประเทศไทยขอโทรศัพท์ยากมาก อุตสาหกรรมต่างๆ ก็เกิดยาก และนำมาสู่ปัญหาใต้โต๊ะ และข้อสุดท้าย ภาคธุรกิจเอกชนมีความแข็งแกร่ง จุดนี้ประเทศไทยก็ทำได้ดีเช่นกัน โดยเฉพาะปัจจุบันทายาทธุรกิจคนรุ่นใหม่ได้มาช่วยเสริมธุรกิจครอบครัว
ด้าน 2 การเชื่อมโยงทำได้ดีหรือไม่ ซึ่งสามารถแตกย่อยไปได้มากมาย แต่สิ่งสำคัญต้องมีการเชื่อมโยงการผลิตไปสู่ภาคการค้าและไปสู่ผู้บริโภคได้ดี
และด้าน 3 เกิดความยั่งยืนหรือไม่ ซึ่งแต่ละภาคอุตสาหกรรมจะมีรายละเอียดที่จะชี้วัดความยั่งยืนต่างกันไป แต่ขอให้ดูจาก 4 ปัจจัย ดังนี้ 1. ต้องมีนวัตกรรม ถ้ามีแต่ของเก่า นับวันจะแข่งขันได้ยากขึ้น 2. การวิจัยและพัฒนา (R&D) เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้า บางอุตสาหกรรมปรับตัวไม่ทัน ไม่มีการวิจัยและพัฒนาอาจจะตายได้ เช่น ฟิล์มโกดัก เป็นต้น 3. สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นแนวนิยมของโลกยุคใหม่ ถ้าไม่ทำตามแนวนี้ธุรกิจจะถูกต่อต้าน และ 4. การอยู่ร่วมกันระหว่างอุตสาหกรรมกับชุมชน ต้องอยู่ร่วมกันได้อย่างเข้าใจ
“ถ้าทำได้ทั้ง 3 ด้านนี้ จะบอกให้เห็นว่าอุตสาหกรรมไทยอยู่ในระดับใดแล้ว ซึ่งมีทั้งจุดที่เราเด่นและต้องแก้ไข ซึ่งมีทั้งแก้กฎหมายและปรับทัศนคติ ซึ่งผมเชื่อว่าหลายเรื่องจะถูกผลักดันและแล้วเสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้”
นายจักรมณฑ์กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาแม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะอยู่ในระดับหัวแถวของอาเซียน จะเป็นรองก็เพียงแค่สิงคโปร์ กับมาเลเซีย เนื่องจากเราสะสมความได้เปรียบมานานกว่า 30 ปี จากที่ประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ มีปัญหาการเมืองมาตลอด นักลงทุนต่างชาติจึงเลือกมาลงทุนที่ไทย แต่ปัจจุบันความได้เปรียบดังกล่าวกำลังจะหมดไปแล้ว กลายเป็นประเทศไทยขาดความมั่นคงทางการเมืองแทน ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน การเมืองเข้าที่เข้าทาง และเศรษฐกิจกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และที่สำคัญ ยุทธศาสตร์ของนักลงทุนต่างชาติจะอาศัยกระจายความเสี่ยงลงทุนในหลายๆ ประเทศ ไม่ได้เจาะจงมาลงทุนที่ไทยแห่งเดียวอีกแล้ว
“ทุกวันนี้เราไม่ได้เปรียบประเทศเพื่อนบ้านมากอย่างแต่ก่อนแล้ว และเราก็ไม่ได้เป็นที่รักเดียวของต่างชาติแล้วเช่นกัน เราไม่ใช่ดาราในภูมิภาคอีกต่อไป เพื่อนบ้านล้วนแต่พัฒนาขึ้นมาเป็นคู่แข่ง ดังนั้น ไทยต้องช่วยตัวเองมากขึ้น” รมต.อุตสาหกรรมกล่าว
อย่างไรก็ตาม ในปีหน้า (2558) จากที่หลายฝ่ายคาดการณ์จีดีพีประเทศจะเติบโตประมาณ 4% ส่วนตัวก็เห็นด้วยเช่นนั้น เนื่องจากฐานในปีนี้ (2557) ค่อนข้างต่ำมาก แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะยังไม่ฟื้นตัวมากนัก แต่ด้วยราคาน้ำมันต่ำก็มีส่วนช่วยพยุงเศรษฐกิจปีหน้าให้อยู่ในระดับนี้ได้
ส่วนภาคอุตสาหกรรม เชื่อจะเติบโตได้อย่างน้อยประมาณ 6% นอกจากฐานต่ำแล้ว ปัญหาต่างๆ เชื่อว่าจะคลี่คลายมากยิ่งขึ้น รวมถึงโครงการลงทุนขนาดใหญ่ต่างๆ จะเริ่มเข้าสู่ระบบ เกิดการกระจายรายได้ ประกอบกับเข้าสู่เออีซี และส่งออกน่าจะดีขึ้น ทำให้ภาคอุตสาหกรรมจะเติบโตดีกว่าปีนี้ด้วย
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *