xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด รฟม.เร่งสรรหาผู้ว่าฯ ด้าน กก.13 ยันเร่งสรุปเดินรถสีน้ำเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
“ประจิน” รับทราบเปลี่ยนประธาน กก.มาตรา 13 เดินรถสายสีน้ำเงิน ยืนยันจะเดินหน้าเร่งสรุปหาตัวผู้เดินรถตามนโยบายยึดหลักประชาชนใช้บริการสะดวก ยอมรับวิธีเจรจากับบีเอ็มซีแอลประหยัดค่าใช้จ่ายทั้งค่าศูนย์ซ่อมและการบริหารจัดการ ด้าน “ยอดยุทธ” ปัดบอร์ดมีแนวคิดปลด “รณชิต” จากรักษาการผู้ว่าฯ ชี้ทำไม่ได้ผิดระเบียบ ขณะที่ตั้ง กก.สรรหาเร่งหาผู้ว่าฯ ตัวจริงที่บอร์ดมีอำนาจประเมินผลงานได้ ยันไม่มีล็อกสเปก พร้อมดันประมูลรถไฟฟ้าสีชมพู, เหลือง, ส้ม ในปี 58

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้รับรายงานการปรับเปลี่ยนประธานคณะกรรมการมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินงานในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35) ในการคัดเลือกเอกชนดำเนินการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค และ บางซื่อ-ท่าพระ) ระยะทาง 27 กิโลเมตร จากนายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ฝ่ายวิศวกรรมและก่อสร้าง เป็นนายรณชิต แย้มสอาด รักษาการผู้ว่าฯ รฟม.แล้ว ซึ่งได้ยืนยันแนวทางการดำเนินงานว่าจะเร่งประชุมเพื่อหาข้อสรุปและรายงานบอร์ด รฟม.ให้ทราบโดยเร็ว โดยการพิจารณาจะยึดหลักความสะดวกของประชาชน

“ก่อนหน้านี้จะรอให้ตั้งบอร์ด รฟม.ให้ครบก่อนเพื่อให้คำปรึกษากรณีมติของ กก.มาตรา 13 แต่รอไม่ได้แล้วเพราะการก่อสร้างงานโยธาของสายสีน้ำเงินคืบหน้าไปมากต้องเร่งหาผู้เดินรถ ซึ่ง กก.มาตรา 13 ที่ปรับใหม่ยืนยันทำหน้าที่ ส่วนจะเลือกรูปแบบเจรจาหรือประมูลนั้นทำได้ทั้งสองทางเพราะจุดนี้เดินรถเป็นวงกลมแต่ยอมรับว่าการเจรจากับบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีเอ็มซีแอล จะลดค่าใช้จ่ายในเรื่องศูนย์ซ่อมและค่าบริหารจัดการลง โดยเชื่อว่า กก.มาตรา 13 จะสรุปผลเร็วๆ นี้” พล.อ.อ.ประจินกล่าว

ด้าน พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงประธานคณะ กก.มาตรา 13 เป็นอำนาจของผู้ว่าฯ ส่วนข่าวว่าตนไม่พอใจและจะมีการปลดนายรณชิตออกจากรักษาการผู้ว่าฯ รฟม.นั้น น่าจะมีกระบวนการปล่อยข่าวซึ่งกำลังสืบหาอยู่ว่าต้องการอะไร เพราะตามระเบียบ รฟม.จะต้องตั้งรักษาการผู้ว่าฯ จากรองผู้ว่าฯ ที่มีอาวุโสสูงสุดบอร์ดจะไปเปลี่ยนแปลงไม่ได้ถือว่าทำผิดระเบียบ ซึ่งนี่เป็นปัญหาหนึ่ง เพราะหากเป็นผู้ว่าฯ สรรหาบอร์ดสามารถประเมินผลการทำงานและปรับเปลี่ยนหรือปลดได้ โดยบอร์ดมีนโยบายให้การเดินรถต่อเนื่อง และไม่ว่าจะสรุปรูปแบบเจรจาหรือประมูลจะต้องชี้แจงเปรียบเทียบได้ว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไร

ทั้งนี้ ที่ประชุมบอร์ด รฟม.เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการ รฟม. มีนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน โดยได้มอบนโยบายให้พยายามเร่งรัดการสรรหา และต้องถูกต้องตามขั้นตอน ซึ่งตามระเบียบจะต้องสรรหาให้ได้ภายใน 1 ปี หลังจากคนเดิมพ้นวาระ แต่คิดว่าควรจะได้เร็วกว่านั้นเพื่อให้งานเดินไปต่อเนื่อง หากสรรหาฯ ล่าช้าจะมีผลต่อการบริหารงานในขณะนี้ เพราะผู้ว่าฯ ตัวจริงจะสามารถตัดสินใจได้รวดเร็วกว่า

โดยทางคณะกรรมการสรรหาฯ จะมีการประชุมหารือสัปดาห์นี้แล้ว เพื่อดูระเบียบและขั้นตอนการสรรหา ซึ่งให้ข้อคิดเห็นว่าคุณสมบัติในการรับสมัครผู้ว่าฯ รฟม.ควรเป็นไปตามระเบียบที่กำหนด และเป็นมาตรฐานคุณสมบัติของผู้บริหารหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอื่น จะไม่เขียนอะไรเป็นพิเศษ เชื่อว่าน่าจะมีคนสนใจมาสมัครหลายราย และจะได้ผู้ว่าฯ คนใหม่เร็วๆ นี้ ส่วนที่ตั้งรองปลัดคลังเป็นประธานสรรหาผู้ว่าฯ เพราะมีอาวุโส และรับผิดชอบสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) โดยตรงจะรู้ระเบียบขั้นตอนการสรรหาดี และทั้งคนในคนนอก ถ้ามีคุณสมบัติตามเกณฑ์ก็มีสิทธิ์สมัครได้ ไม่มีการล็อกสเปก แต่ผลที่ออกมาจะต้องชี้แจงและเปรียบเทียบได้ว่าคนที่ได้รับคัดเลือกมีคุณสมบัติอะไรที่เหนือกว่าผู้สมัครรายอื่นอย่างไร ซึ่งตามนโยบายถ้าตำแหน่งไหนว่างจะพยายามเร่งแต่งตั้งเพื่อให้การทำงานต่อเนื่อง

รายงานข่าวแจ้งว่า จะมีการเร่งสรรหาผู้ว่าฯ รฟม.ให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือนเพื่อให้ผู้ว่าฯ คนใหม่มาจัดการเรื่องเดินรถสายสีน้ำเงินและสีเขียวที่มีแนวทางให้เจรจากับบีเอ็มซีแอลและบีทีเอส ซึ่งสอดคล้องกับกระแสข่าวว่าประธานบอร์ดต้องการเปลี่ยนตัวรักษาการผู้ว่าฯ ในการประชุมบอร์ด แต่ผิดระเบียบจึงไม่สามารถทำได้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ นางสาวรัชนี ตรีพิพัฒนกุล อดีตประธานบอร์ด รฟม. ถูกฟ้องกรณีสั่งย้าย นายรณชิตจากรักษาการผู้ว่าฯ ไปเป็นที่ปรึกษา

ส่วนความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ระยะทาง 17.9 กม. มูลค่า 29,225 ล้านบาท นั้น คาดว่าการพิจารณาข้อเสนอด้านคุณสมบัติและเทคนิคจะแล้วเสร็จและเปิดซองข้อเสนอราคาได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 โดยยังเป็นไปตามแผนงานซึ่งบอร์ดต้องการให้เร่งรัดแต่ต้องถูกต้องด้วย ส่วนสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) นั้น จะเปิดเดินรถได้ในปลายปี 2558 หรือต้นปี 2559 โดยจะเป็นการทยอยเปิดบางส่วน และจะเปิดให้บริการเต็มทั้งเส้นทางภายในเดือนกันยายน 2559 พร้อมกันนี้จะเร่งผลักดันรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ระยะทาง 34.5 กม. สายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ระยะทาง 29.1 กม. สายสีส้ม (ตลิ่งชัน-มีนบุรี) ระยะทาง 38.9 กม. ให้สามารถนำเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเปิดประมูลก่อสร้างได้ช่วงต้นปี กลางปี และปลายปี 2558 ตามลำดับ และมั่นใจว่าหากสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ตามแผนนั้น จะทำให้โครงข่ายรถไฟฟ้ามีความสมบูรณ์และแก้ปัญหาการจราจรได้อย่างเป็นรูปธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น