ก้าวสู่ปีที่ 31 แกรมมี่ “อากู๋” เปิดทางดันคนรุ่นใหม่ขึ้นกุมบังเหียน พร้อมถอยฉากอยู่เบื้องหลัง โฟกัสธุรกิจดิจิตอลทีวีต่อยอดธุรกิจเพลง เชื่อปีหน้าเพลงกลับมารุ่งโรจน์อีกครั้ง เตรียมส่งคอนเทนต์เพลงเข้าถึงช่องทางดิจิตอลอีกเพียบ มั่นใจดันรายได้เพลงกลับมาทะลุ 3,000 ล้านบาทอีกครั้ง
นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 31 จากนี้ไปจีเอ็มเอ็มพร้อมจะผลักดันให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาบริหารดูแลเพิ่มเติม ส่วนตนจะคอยดูอยู่เบื้องหลังมากขึ้น รวมทั้งจะให้ความสำคัญต่อธุรกิจทีวีดิจิตอลเป็นหลักคือ ช่อง ONE HD และช่อง GMM Channel ที่พร้อมจะสร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ ออกมา เช่นเดียวกับ 30 ปีที่ผ่านมาที่พิสูจน์ถึงศักยภาพของแกรมมี่จนประสบความสำเร็จในธุรกิจเพลง
สำหรับธุรกิจเพลงซึ่งเป็นธุรกิจหลักนั้น มั่นใจว่าในปี 2558 จะกลับมามีรายได้มากกว่าปีนี้และปีก่อน ซึ่งเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกจากการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีดิจิตอล เช่น ยูทิวบ์ ที่เป็นเว็บไซต์ที่ผู้คนให้ความสนใจและมีนโยบายจ่ายค่าลิขสิทธิ์ ซึ่งแกรมมี่ได้จับมือกับทางยูทิวบ์ รวมถึง KKbox ในการหารายได้เพิ่ม ขณะที่รายได้จากแผ่นซีดียังคงทรงตัว
นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจเพลงยังมีรายได้เพิ่มเติมจากส่วนของโชว์บิซ เนื่องจากมี “เมืองไทย จีเอ็มเอ็ม ไลฟ์เฮ้าส์” ที่เซ็นทรัลเวิลด์ ที่จะต่อยอดธุรกิจเพลงได้อีกส่วนหนึ่ง รวมถึงในส่วนของการจัดเก็บลิขสิทธิ์ที่จะเพิ่มการจัดเก็บใหม่ๆ ด้วย เช่น คาราโอเกะ ผับ บาร์ เป็นต้น เชื่อว่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ปีหน้ารายได้เพลงจะกลับมาดีได้อีกครั้ง
ด้าน นายกริช ทอมมัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจเพลง บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า ในปีหน้าจะบริหารจัดการสร้างรายได้จากธุรกิจเพลงให้มากขึ้น จากปกติธุรกิจเพลงจะสร้างรายได้จาก 2 ส่วนหลัก คือเพลงและศิลปิน โดยรายได้ในส่วนของเพลงจะมาจากดิจิตอล, สตรีมมิ่ง, ฟิสิกคอล และการจัดเก็บลิขสิทธิ์ โดยจะให้ความสำคัญกับช่องทางดิจิตอลมากขึ้น ทั้งจากการดาวน์โหลดและการฟังเพลงแบบสตรีมมิ่ง
จากปีนี้ที่มี KKbox ไปแล้ว ยังจะจับมือกับพันธมิตรอีกหลายราย เช่น Sanook.com, kapook.com เป็นต้น รวมถึงแอปพลิเคชัน Line ในส่วนของสติกเกอร์ ที่จะทยอยออกมาในรูปแบบคาแรกเตอร์ศิลปิน เช่น บี้-สุกฤษฎิ์, เบิร์ด-ธงไชย, หญิงลี และศิลปินอื่นๆ ที่มีคาแรกเตอร์ชัดเจน รวมถึง We Chat ที่กำลังพูดคุยกันอยู่ ขณะที่รายได้จากศิลปินมาจาก 3 ส่วนหลักคือ อีเวนต์/พรีเซ็นเตอร์, คอนเสิร์ต/โชว์บิซ
อย่างไรก็ตาม ในปี 2557 รายได้ในส่วนดิจิตอลลดลง 60% หรือทำได้เพียง 200 ล้านบาท แต่คาดว่าปี 2558 น่าจะเพิ่มเป็น 400 ล้านบาทได้ เช่น จากยูทิวบ์ ปีหน้าน่าจะโต 20% จาก 100 ล้านบาทในปี 2557 เช่นเดียวกับธุรกิจโชว์บิซที่ปีนี้ติดลบเพราะไม่ค่อยมีการจัดงานและมีการเลื่อนจัดงานออกไป ส่วนปลายปีอาจจะมีให้เห็นบ้าง เช่น คอนเสิร์ต “มันใหญ่มาก” ที่ขายบัตรหมด เป็นต้น รวมถึงจากการที่มีฮอลล์จัดคอนเสิร์ตของตัวเอง ปีหน้าโชว์บิซน่าจะกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง
“จากกระแสเทคโนโลยีดิจิตอลที่ดี ปีหน้าการออกเพลงใหม่จะยังคงอยู่ที่ 300 เพลงเท่าปีนี้ ขณะที่รายได้รวมของธุรกิจเพลงปีนี้มาจากดิจิตอลเพียง 30% และฟิสิกคอล 70% และจากที่ในปีหน้าการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีดิจิตอลดีขึ้น มี 3G ที่มีคุณภาพและผู้บริโภคเรียนรู้ในการใช้งานที่ดีขึ้น จะทำให้รายได้ทั้งสองส่วนกลับมาที่ 50% เท่าๆ กันได้ และเมื่อรวมกับรายได้ในส่วนอื่นๆ จึงน่าจะทำให้รายได้รวมของธุรกิจเพลงกลับมาทำได้ที่ 3,000 ล้านบาทอีกครั้ง จากปีนี้ที่ทำได้ 2,500 ล้านบาท จากเป้า 3,000 ล้านบาทที่วางไว้” นายกริช กล่าวสรุป