ยึดแนวทาง “สร้าง-กระจาย-ยกระดับ” งานแสดงสินค้าภายในประเทศ เผยความสำเร็จงานแรกหนุนสภาหอการค้าไทยจัดงานแสดงสินค้าส่งเสริมการค้าข้ามแดนไทย-พม่าครั้งแรก รวม 4 วัน มีผู้สนใจร่วมงานกว่า 2 หมื่นคน เงินสะพัดกว่า 7 ล้านบาท สานต่อโครงการอนาคตผลัดกันเป็นเจ้าภาพจัดงานปีเว้นปี
นายภูริพันธ์ บุนนาค ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมตลาดในประเทศ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB เปิดเผยถึงการจัดงานแสดงสินค้าส่งเสริมการค้าข้ามแดนไทย-พม่า (Thai - Myanmar Trade Fair 2014) เมื่อวันที่ 15-19 ต.ค.ที่ผ่านมา ณ ศูนย์กลางแสดงสินค้าและศูนย์ประชุมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว อ.แม่สอด จ.ตาก ว่า การจัดงานดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกตามโครงการ “ส่งเสริมและยกระดับงานแสดงสินค้าในประเทศ : Domestic Exhibition” ซึ่งเป็นความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนทั้ง 2 ประเทศที่เตรียมขยายผลไปสู่การขยายตัวทางการค้าและการลงทุน ตามแผนเศรษฐกิจของชาติในการพัฒนาการค้าชายแดนเพื่อรองรับโอกาสในการเปิดเขตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ในปี 2558
งานดังกล่าวจัดขึ้นโดย สภาหอการค้าไทย ร่วมกับสมาพันธ์หอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งสหภาพพม่า และหอการค้าเมียวดี โดยมีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วม 54 บริษัท และผู้ประกอบการจากประเทศพม่าจำนวน 23 บริษัท รวมเป็น 77 บริษัท มาจัดแสดงสินค้า ตลอดจนร่วมการประชุม สัมมนา และการจับคู่เจรจาธุรกิจ (Business Matching) 4 กลุ่มธุรกิจ คือ กลุ่มธุรกิจเกษตรและอาหาร กลุ่มธุรกิจวัสดุก่อสร้างและสุขภัณฑ์ กลุ่มธุรกิจบริการด้านการเงิน ประกันภัย และลอจิสติกส์ และกลุ่มธุรกิจการค้าปลีก-ค้าส่ง
“การจัดงานครั้งนี้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทั้ง 2 ฝ่ายเป็นจำนวนกว่า 200 ราย มาร่วมพบปะเจรจาการค้าและการลงทุน จนมียอดขายและได้รับออเดอร์ในอนาคตระหว่าง 6 เดือนจนถึง 1 ปี เป็นมูลค่ากว่า 7.2 ล้านบาท โดยมีผู้เข้าชมงานทั้งไทย-พม่าไม่น้อยกว่า 2 หมื่นคน ทั้งยังมีการต่อยอดการจัดงานในอนาคตด้วยการสลับกันเป็นเจ้าภาพจัดงานในปีต่อๆ ไป”
นายภูริพันธ์กล่าวว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างสูงในการสร้างรายได้จากภาคธุรกิจการจัดงานแสดงสินค้าเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาคเอเชีย ส่วนการแสดงสินค้าในประเทศ หรือ Domestic Exhibition ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของ TCEB มีมูลค่าตลาดประมาณ 6 พันล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มเติบโตแบบก้าวกระโดด โดย TCEB ได้มีการเตรียมพร้อมและให้ความสนับสนุนองค์กรและผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติครบถ้วน เริ่มดำเนินกลยุทธ์ “สร้าง” หรือ Invent การจัดงานแสดงสินค้าใหม่ๆ ที่ไม่เคยจัดมาก่อน รวมทั้ง “กระจาย” หรือ Clone งานแสดงสินค้าในประเทศที่ได้รับความสำเร็จกระจายไปจัดในภูมิภาค ตลอดจนการ “ยกระดับ” หรือ Upgrade งานแสดงสินค้าซึ่งมีการจัดอยู่แล้วโดยการพัฒนาให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้น”
ทั้งนี้ TCEB ได้จัดสรรงบประมาณในการสนับสนุนแต่ละงานสูงสุดถึง 1 ล้านบาทสำหรับงานแสดงสินค้าประเภทสร้าง (Invent) และกระจาย (Clone) และสูงสุดถึง 5 แสนบาท สำหรับการจัดงานแสดงสินค้าประเภทยกระดับ (Upgrade) อีกทั้งยังเพิ่มงบสนับสนุนให้เป็นพิเศษจำนวน 1-2 แสนบาท หากเลือกจัดใน “ไมซ์ซิตี้” ตามที่ TCEB ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพและความพร้อมในการให้บริการ และได้มีการลงนามความร่วมมือส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ ได้แก่ กรุงเทพฯ พัทยา เชียงใหม่ ภูเก็ต และขอนแก่น
นายภูริพันธ์กล่าวว่า ธุรกิจการจัดงานแสดงสินค้าในประเทศ ทั้งระดับ Expo และ Exhibition สามารถนำรายได้เข้าประเทศได้เป็นจำนวนมหาศาล ก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในหลายมิติ ทั้งการจ้างงาน การกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น การพัฒนาการค้าและการลงทุน อีกทั้งยังเชื่อมโยงประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านสอดรับกับการก้าวเข้าสู่เขตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ภาคธุรกิจฯ นี้จึงเป็นภาคธุรกิจสำคัญที่ควรเร่งส่งเสริม เนื่องจากประเทศไทยมีทั้งศักยภาพและความพร้อม ตลอดจนทำเลที่ตั้งในศูนย์กลางของภูมิภาคที่จะสามารถขยายผลไปสู่โอกาสทางการค้าและการลงทุนได้อีกมากมาย