รัฐ-เอกชน-สภาหอการค้าไทย เร่งยกระดับชายแดนแม่สอด จังหวัดตาก ขึ้นแท่นเมืองชายแดนเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรก พร้อมสร้างโครงข่ายคมนาคม ถนน-สะพาน หวังเปิดประตูการค้าเชื่อมต่อระหว่างไทย-พม่า (ด่านแม่สอดและด่านเมียวดี) ถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ชายแดนที่ไทย-พม่า ร่วมกันพัฒนาต่อจากโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เพื่อรองรับการเปิด AEC ในปี 2558 คาดจะสร้างเม็ดเงินมหาศาลจาก 4.6 หมื่นล้าน เป็นแสนแสนล้านในอีก 2 ปี ชี้คนพม่าชอบแบรนด์ไทย ทั้งด้านคุณภาพและราคาที่เหนือกว่าสินค้าจากจีน ขณะเดียวกันเตือนนักธุรกิจไทยระวัง 4 ปัจจัยสำคัญก่อนตัดสินใจลงทุนในพม่า
การเดินทางไปเยือนพม่าอย่างเป็นทางการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9-10 ต.ค.ที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า การค้าและการลงทุนของประเทศไทยและพม่ามีสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมากขึ้น เพราะหลังการหารือกับนายพลเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีพม่านั้นได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ไทยกับพม่าพร้อมที่จะขยายความร่วมมือในทุกด้านอย่างต่อเนื่อง โดยมีประเด็นที่สำคัญ คือ นโยบายพัฒนาพื้นที่ชายแดนให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเฉพาะการร่วมมือกันจัดตั้ง “อำเภอแม่สอด จ.ตาก” และ “เมืองเมียวดีของฝั่งพม่า” ขึ้นมาเป็นโมเดล หรือพื้นที่โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษนำร่อง เพื่อผลักดันการค้าและการลงทุนของทั้ง 2 ฝั่งให้มีการเติบโต รองรับการเปิดประตูการค้า AEC ที่กำลังเริ่มขึ้น
นโยบายการสร้างเมืองเขตเศรษฐกิจพิเศษได้รับการขานรับเป็นอย่างดี ล่าสุดมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักธุรกิจทั้ง 2 ประเทศ จากหอการค้าไทย และพม่า จับมือกันจัดงานแสดงสินค้าส่งเสริมการค้าข้ามแดนไทย-เมียนมาร์ (Thai-Myanmar Trade Fair 2014) ที่อาคารศูนย์กลางแสดงสินค้า และศูนย์ประชุมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญของการค้าชายแดนไทย-เมียวดี ภายในงานนอกจากจะเป็นการแสดงสินค้าเหมือนปกติทั่วไปแล้ว ในอีกส่วน คือ การจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) และการจัดเสวนาเพื่อหาโอกาส ศึกษาปัญหา และอุปสรรคการค้าชายแดนของไทย-พม่า
รวมถึงในส่วนการประชุมร่วมกันระหว่างหอการค้าแห่งประเทศไทย หอการค้าและอุตสาหกรรมประเทศเมียนมาร์ และหอการค้าและอุตสาหกรรมเมียวดี ตกลงร่วมกันในการจัดตั้งคณะทำงานและจัดทำแผนแม่บทจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดขึ้น เพื่อกำหนดแนวทางต่างๆ ทำการค้าร่วมกัน โดยตามเป้าหมายจะกำหนดให้แล้วเสร็จใน 6-9 เดือน เพื่อเสนอต่อรัฐบาลของแต่ละฝ่าย หลังจากนั้นจะมีการนำข้อสรุปและร่างโครงการดังกล่าวไปศึกษารายละเอียด เพื่อขอมติเห็นชอบ และดำเนินการให้เสร็จภายใน 6 เดือน เพื่อให้ด่านอำเภอแม่สอดและเมียวดีมีความพร้อมแบบครบวงจรในทุกๆ ด้าน ทั้งเส้นทางการคมนาคมและสามารถเปิดให้ได้เร็วที่สุด
สำหรับนโยบายการจัดตั้ง “เมืองชายแดน” ให้เป็น “เมืองเขตเศรษฐกิจพิเศษ” มีด้วยกัน 3 รูปแบบ ทั้งเป็นแหล่งการค้า เป็นเขตอุตสาหกรรม เป็นแหล่งท่องเที่ยว ถือเป็นความพยายามของรัฐบาลหลายยุคหลายสมัยที่ผ่านมา เช่นเดียวกับนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กำลังเร่งผลักดันในขณะนี้ คือ แผนจัดตั้ง 5 เมืองการค้าชายแดน คือ ด่านแม่สอด ด่านอรัญประเทศ ด่านคลองใหญ่ ด่านมุกดาหาร และด่านสะเดา/ปาดังเบซาร์ ให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ
อย่างไรก็ดีการที่ชายแดนไทย-พม่ามีความคืบหน้าอย่างชัดเจน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมูลค่าการค้าชายแดนของด่านแม่สอดมีอัตรการเติบโตแบบมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกันเมืองเมียวดีชายแดนฝั่งพม่าตรงข้ามด่านแม่สอดยังเป็นเมืองสําคัญในการกระจายสินค้าจากประเทศไทยไปยังเมืองต่างๆ ของพม่า ซึ่งอยู่ในช่วงจังหวะเวลาที่ประเทศพม่ากำลังเปิดประเทศให้นักลงทุนเดินทางเข้าไปลงทุนทำธุรกิจได้ นอกจากจะมีแหล่งทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ สิ่งที่สำคัญอีกประการ คือ การอนุญาตให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนได้ 100% และสามารถถือครองที่ดินได้เป็นระยะเวลานานถึง 70 ปี ถือว่าเป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดให้นักธุรกิจนานาประเทศแห่เข้ามาลงทุนที่พม่า
ส่วนโอกาสทองที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ เมื่อมีการจัดตั้งเมืองเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด-เมียวดีแล้วเสร็จไปพร้อมๆ กับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปี 2558 นั้น “หอการค้าไทย-เมียนมาร์” กล่าวในระหว่างการทำแผนแม่บทพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนว่า มีการคาดการณ์ถึงเม็ดเงินการค้าชายแดนมหาศาลที่จะเกิดขึ้นจากด่านแม่สอด จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจากตัวเลขมูลค่าการค้าชายแดน 4.6 หมื่นล้านบาทในปี 2556 ขยับขึ้นมาเป็น 6 หมื่นล้านบาทในปี 2557 และใน 2 ปีถัดไปคาดจะก้าวกระโดดเป็นแสนแสนล้านบาท จนถึงหลักล้านล้านบาทในปี 2561
รัฐ+เอกชน เตรียมระบบคมนาคมขนส่งสินค้า
ในการผลักดันให้อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ตามนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในเรื่องความพร้อมด้านเส้นทางการคมนาคม และระบบการขนส่ง เป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนาเมืองเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนทั้ง 2 ฝั่ง ล่าสุดทั้งภาครัฐและเอกชนจับมือกันผลักดันให้โครงการต่างๆ เป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้น
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาครัฐและเอกชนมีความพร้อมแล้ว แต่สิ่งจำเป็นที่จะต้องผลักดันอย่างเร่งด่วน คือ โครงข่ายคมนาคม ซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อมโยงขนส่งสินค้าของทั้ง 2 ฝั่ง คือโครงการก่อสร้างถนนสายเมียวดี จากเมืองเมียวดีไปยังกอกาเรก สะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 และโครงการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 ขนาด 4 ช่องจราจร สายตาก-แม่สอด ตอนที่ 3 และสายตาก-แม่สอด ตอนที่ 4 ซึ่งหากผลักดันให้มีการก่อสร้างโครงข่ายจราจรรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดเสร็จสมบูรณ์ได้นั้น จะเพิ่มศักยภาพการค้าชายแดนในบริเวณนี้ให้ขยับขึ้นเป็นแสนล้านบาท ในช่วงเปิดประชา คมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ในปลายปี 2558 นี้
ด้านความคืบหน้าของแต่ละเส้นทางนั้น นายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงตาก กรมทางหลวง กล่าวว่า โครงการก่อสร้างถนนสายเมียวดี จากเมืองเมียวดีไปยังกอกาเรกระยะทาง 45 กิโลเมตร ขนาด 4 ช่องจราจรขณะนี้ อยู่ระหว่างก่อสร้างโดยบริษัทสี่แสงการโยธา จำกัด (มหาชน) มีความคืบหน้าไปกว่า 80% คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2558 ซึ่งจะช่วยให้การขนส่งสินค้าจากอำเภอแม่สอด-ศูนย์วันสต็อปเซอร์วิส ของเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดี สามารถขนส่งได้สะดวกรวดเร็วขึ้น จากเดิมมีข้อจำกัดต้องใช้ขนส่งสินค้าวันเว้นวัน เพราะการเดินทางคดเคี้ยวเล็กแคบต้องขึ้นเขาชัน เสี่ยงต่ออันตราย ปัจจุบันมีการตัดภูเขาตะนาวศรีเป็นทางราบเพื่อให้การเดินทางสะดวกมากขึ้น
สำหรับแผนก่อสร้างโครงการสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาร์ แห่งที่ 2 (สะพานข้ามแม่น้ำเมย 2) งบประมาณก่อสร้าง 3,600 ล้านบาท งบเวนคืน 300 ล้านบาท โดยแนวสายทาง 80% จะอยู่ในเขตป่าตามมติคณะรัฐมนตรี ระยะทาง 21.4 กิโลเมตร ซึ่งจะอยู่ในฝั่งไทยถึงตำบลท่าสายลวด และตัวสะพานข้ามแม่น้ำรวม 17.26 กิโลเมตร ส่วนอีก 4.14 กิโลเมตรจะอยู่ฝั่งเมียนมาร์ เมืองเมียวดี มีขนาด 4 ช่องจราจร จะเป็นทางยกระดับทั้งหมด โดยจะมีการเร่งรัดดำเนินการในปีงบ ประมาณ 2558 ใช้เวลาก่อสร้าง 3-5 ปี
ขณะที่โครงการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 ขนาด 4 ช่องจราจร สายตาก-แม่สอด ตอนที่ 3 ระยะทาง 25 กิโลเมตร ขณะนี้ได้รับจัดสรรในงบประมาณปี 2558 และสายตาก-แม่สอด ตอนที่ 4 ระยะทาง 25 กิโลเมตร จะได้รับจัดสรรงบประมาณกลางปี 2558 วงเงิน 1,400 ล้านบาท จะช่วยให้การเดินทางขนส่งสินค้าร่นระยะเวลาได้มาก โดยจะมีการขุดเจาะอุโมงค์ ถนนสายตาก-แม่สอด หรือถนนสายเอเชีย ระยะทาง 85 กิโลเมตร เพื่อสะดวกในการเดินทาง และเชื่อมต่อกับสะพานเมย 2 รวมถึงการก่อสร้างถนนสายตะวันออก-ตะวันตก หรือ อีสต์-เวสต์ อีโคโนมิก คอร์ริดอร์ เป็น 4 ช่องจราจร จากมุกดาหารมาที่แม่สอด ระยะทาง 770 กิโลเมตร ขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 75% ให้แล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2558
ประเดิมจัดงานแสดงสินค้าชายแดนครั้งแรก
ขณะที่ นายภูริพันธ์ บุนนาค ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการตลาดในประเทศ ทีเส็บ (สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ) จากการดำเนินตามกลยุทธ์ "สำหรับในปีงบประมาณ 2558 ซึ่งเริ่มขึ้นในเดือนตุลาคมนี้ ได้เดินหน้าตามกลยุทธ์ ‘สร้าง-กระจาย-ยกระดับ’ เพื่อเปิดรับโอกาสจากการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยจะเน้นการ ‘สร้าง’ งานใหม่กับ ‘กระจาย’งานสู่ภูมิภาคและตะเข็บชายแดนที่สอดรับกับแผนอัดฉีดเศรษฐกิจของภาครัฐในการพัฒนาเศรษฐกิจชายแดน" ซึ่งเป็นที่มาของโครงการใหม่ ได้แก่งานแสดงสินค้าส่งเสริมการค้าข้ามแดนไทย-เมียนมาร์ (Thai-Myanmar Trade Fair 2014) ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งจัดขึ้นใหม่ (Invent) ในรูปแบบศูนย์กลางแสดงสินค้าและศูนย์ประชุมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หอการค้าจังหวัด และสมาคมต่างๆ
การจัดงานครั้งนี้ของทีเส็บ ถือเป็นครั้งแรกที่มีเป้าหมายเพื่อยกระดับงานแสดงสินค้าในจังหวัดที่มีพรมแดนติดกับประเทศในกลุ่ม CLMV และเพื่อเป็นการส่งเสริมการค้าร่วมกัน โดยมีสินค้าจากผู้ประกอบการจากไทย เพื่อตอบสนองตลาดในประเทศพม่า ได้แก่ อาหาร, การเกษตร, การบริการ ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ธุรกิจประกันภัย สถาบันการเงิน ธุรกิจโลจิสติกส์ และธุรกิจค้าปลีกกว่า 50 ราย และผู้ประกอบการจากเมียนมาร์อีก 40 ราย นำสินค้ามาจัดแสดง นอกจากนี้ยังมีการจับคู่ทางธุรกิจ แลกเปลี่ยนข้อมูลการค้าการลงทุนระหว่างนักธุรกิจไทยและพม่าอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การจัดงานครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทั้ง 2 ฝ่าย ในการทำการค้าชายแดนในเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมกัน และจะช่วยสนับสนุนการค้าชายแดนระหว่างกันให้สามารถดำเนินการได้ด้วยดี
“ประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างสูงในการสร้างรายได้จากภาคธุรกิจ การจัดงานแสดงสินค้าเป็นอันดับต้นของภูมิภาคเอเชีย และส่วนการแสดงสินค้าในประเทศ หรือ Domestic Exhibition ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของทีเส็บมีมูลค่าตลาดประมาณ 6 พันล้านบาทต่อปี”
วิเคราะห์โอกาสทำธุรกิจในพม่า
ไม่เพียงนักลงทุนจากประเทศไทยเท่านั้นที่มองเห็นแนวโน้มโอกาสในการลงทุนที่ประเทศพม่า เพราะหลังจากที่มีการเปิดประเทศเมื่อต้นปี 2011 ทำให้พม่ากลายเป็นจุดสนใจของนักธุรกิจทั่วโลก เช่นเดียวกับธุรกิจต่างชาติจาก 10 ประเทศในภูมิภาคอาเซียนต่างมองเห็นโอกาสเข้าไปลงทุนในพม่าด้วยเช่นกัน ซึ่งมีทั้งกลุ่มนักธุรกิจที่อยู่ในกระแส และนักธุรกิจที่กลัวตกกระแส
สำหรับโอกาสในการแข่งขันของสินค้าไทยนั้น “นายบรรพต ก่อเกียรติเจริญ” ที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดตาก บอกถึงการทำธุรกิจในพม่านั้น หากเทียบโอกาสทางการตลาดกันแล้ว นักธุรกิจไทยมีแต้มต่อมากกว่า เพราะการรับรู้แบรนด์จีนในตลาดพม่าอยู่ในตลาดระดับล่าง ขณะที่การรับรู้ของคนพม่า เชื่อว่าสินค้าแบรนด์ไทยเป็นสินค้าเกรดดีมีคุณภาพ และมีราคาสูง
ทั้งนี้จากโอกาสในการขยายตลาดใหม่ในประเทศพม่า ที่ยังไม่มีเจ้าตลาดแบบเบ็ดเสร็จ ผนวกกับจุดเด่นที่คนพม่านิยมแบรนด์ไทยนี่เอง ทำให้ 2-3 ปีที่ผ่านมา มีกลุ่มธุรกิจทั้งรายใหญ่ อย่าง เครือซีพี เอสซีจี และรายเล็กแห่เข้าไปลงทุนในพม่ากันมากขึ้น ซึ่งถามว่าสินค้ากลุ่มไหนที่คนเห็นว่าน่าลงทุน เรียกได้ว่า ครอบคลุมทั้งอุตสาหกรรม ภาคบริการ การท่องเที่ยว ตลอดจนสินค้ากลุ่มอุปโภค-บริโภค ที่เกี่ยวกับของกินของใช้ ถือว่าเป็นกลุ่มสินค้าที่ผู้ประกอบการ SMEs ของไทยมองเห็นลู่ทางในการลงทุนมากที่สุด
โดยรูปแบบในการเข้าไปมีตั้งแต่ต่อยอดการค้าขายผ่านชายแดนไทย-พม่า และเมื่อสินค้าเป็นที่นิยม จึงยกระดับมาเป็นการขายในระบบผ่านตัวแทนจำหน่าย หรือบริษัทแม่เข้าไปลงทุน ซึ่งมีทั้งขยายตลาด เพิ่มช่องทางการขาย หรือลงทุนสร้างโรงงานในประเทศพม่า
แม้ว่ากระแสการลงทุนในพม่าจะร้อนแรงมากที่สุดในอาเซียน แต่สิ่งที่นักธุรกิจไทยจะต้องระวัง คืออุปสรรคที่ทำให้ขีดความสามารถทางการแข่งขันลดลง ทั้งนี้ในแต่ละประเทศนั้นมีความแตกต่างกัน แต่หลักๆ ในประเทศพม่านั้นมีข้อจำกัดที่เป็นความท้าทายให้นักธุรกิจไทยอยู่ 4 ประการ
ประการแรก ที่ดินมีราคาแพงสูงเกินกว่าความเป็นจริง 100%
ประการที่สอง โครงสร้างพื้นฐาน ไฟฟ้า น้ำประปา ถนน อินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์ ยังไม่พร้อม ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่ต้องมีการปรับรูปแบบธุรกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่แท้จริง
ประการที่สามความไม่ชัดเจนในนโยบายของผู้ประกอบการพม่า ที่ไม่มีประสบการณ์ ทำให้ข้อตกลงเงื่อนไขที่ดำเนินธุรกิจร่วมกันอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ในบางครั้ง
ประการที่สี่ ข้อจำกัดด้านระบบไฟแนนซ์ซึ่งอยู่ในระยะเริ่มต้น เพิ่งนำระบบธุรกรรมทางการเงินผ่านธนาคารมาใช้ ทำให้การดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการรายเล็กที่ร่วมธุรกิจกับผู้ประกอบการพม่านั้น อาจขาดความคล่องตัวในการทำ ล่าสุดการที่ธนาคารกลางพม่าประกาศให้ใบอนุญาตธนาคารกรุงเทพ เข้าไปเปิดที่ทำการสาขาที่พม่าได้ เชื่อว่าจะสามารถปลดล็อกอุปสรรคนี้ได้ และในอนาคตจะเป็นผลดีกับนักลงทุนไทยให้ได้รับความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงินได้มากขึ้น
ดังนั้นนโยบายการตั้งอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ขึ้นเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ แม้ปัจจุบันมีความพร้อมในด้านต่างๆ ทั้งการค้า การคมนาคมขนส่งต่างคืบหน้าไปมากแล้ว แต่จะสำเร็จตามเป้าหมายที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา วางไว้หรือไม่ ต้องติดตาม!