ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หลังจากทำพิธีด่านศุลกากรและประทับตรวจลงตรา ลงบนหนังสือเดินทางที่จุดผ่านแดนถาวรบ้านหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ก้าวแรกที่เหยียบผืนดินจังหวัดเกาะกงของกัมพูชา เมืองที่ใครๆ มองว่า เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยบ่อนกาสิโนสำหรับนักเสี่ยงโชค
วิถีชีวิตผู้คนของทั้งสองประเทศบริเวณจุดผ่านแดนถาวรที่เราสามารถเห็นได้จนชินตา ไม่ว่าจะการเดินทางไปมาหาสู่กันเสมือนญาติมิตร หรือสัมมาอาชีพที่เน้นหนักไปทางค้าขาย จึงทำให้เราเห็นแรงงานเขมรหรือแรงงานไทยเข็นรถบรรทุกสินค้าข้ามแดนกันไปมาตลอดเวลากระทั่งด่านปิด ซึ่งรถเข็นเหล่านั้นบรรจุสินค้าอุปโภคบริโภค ผัก ผลไม้จากฝั่งไทยซึ่งดูจะได้รับความนิยมในหมู่ชาวกัมพูชา
เสียงตะโกนสั่งงานลูกจ้างของเถ้าแก่มีทั้งภาษาพื้นถิ่นอย่างเขมร ขณะเดียวกันก็ได้ยินเสียงเอื้อนเอ่ยภาษาไทยในบางช่วงเวลา ประชาชนทั้งสองจังหวัดชายแดนบางส่วนสามารถสื่อสารได้ 2 ภาษา ทั้งภาษาไทยและภาษาเขมร หากชาวเกาะกงพูดภาษาไทยได้ดูจะไม่ใช่เรื่องแปลก นั่นเพราะ ไทยและเขมรมีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4-5 กระทั่งสยามได้ลงนามในอนุสัญญาฝรั่งเศสสยาม เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1904 ซึ่งทำให้ไทยต้องเสียเกาะกง หรือ ปัจจันตคีรีเขตร์ ในสมัยนั้นให้แก่กัมพูชา ซึ่งถูกปกครองด้วยประเทศฝรั่งเศส ซึ่งชาวสยามที่อยู่บนเกาะกงบางส่วนไม่ได้ย้ายกลับมายังแผ่นดินเกิด จึงมีชื่อเรียกเฉพาะ ผู้ที่สืบเชื้อสายไทยที่อาศัยอยู่ในเกาะกงว่า “ไทย-เกาะกง”
สองข้างทางบริเวณทางเข้าเกาะกง บนถนนสาย 48 ส่วนหนึ่งของเส้นทาง R10 (Southern Coastal Corridor) วิถีชีวิตที่ค่อนข้างจะแปลกตาสำหรับชาวสยามอย่างเรา คือ บรรดาพ่อค้าแม่ขายที่กำลังลำเลียงผลไม้ที่ขนข้ามมาจากฝั่งไทย จัดวางบนรถตู้ซึ่งภายในรถถูกปรับแต่งโดยการนำเบาะโดยสารรถออกเพื่อเพิ่มพื้นที่สำหรับบรรทุกสินค้าอย่างพืชผักผลไม้ หรืออะไรก็ตามที่สามารถขนใส่ภายในรถตู้ได้ ส่วนเหตุผลที่พ่อค้าแม่ค้าชาวเขมรนิยมใช้รถตู้มากกว่าจะเป็นรถกระบะอย่างบ้านเรา คือปริมาณความจุต่อจำนวนเที่ยวของการขนส่ง และเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้น ทั้งค่าธรรมเนียมผ่านทางรวมถึงค่าจ้างคนงาน
การค้าขายระหว่างชายแดนไทย-กัมพูชา และรายได้จากบ่อนกาสิโน ดูจะเป็นพลวัตทางเศรษฐกิจของจังหวัดเกาะกง เพราะนอกจากเม็ดเงินที่ได้จากการท่องเที่ยวภายในประเทศแล้ว ความคาดหวังที่จะปั้นให้เกาะกงเป็นมากกว่าการมีอัตลักษณ์เพียงแค่บ่อนกาสิโน กระทั่งการเข้ามาของ LEE YONG PAT GROUP ที่เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาที่ดินของเกาะกงให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะกง และจัดสรรพื้นที่ให้ผู้ประกอบการเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานอุตสาหกรรม
ด้วยค่าแรงที่ค่อนข้างถูกเพียง 120-130 ดอลลาร์ต่อเดือนต่อคน การยกเว้นภาษี GSP ประเภทสิ่งทอ และ สินค้าเกษตรบางรายการจากจีน 100% ถือเป็นจุดแข็งของการลงทุนด้านอุตสาหกรรมในพื้นที่เกาะกง นักลงทุนเริ่มทยอยเข้ามาดำเนินธุรกิจภายในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะกงแม้จะมีไม่มาก แต่ก็ทำให้เห็นว่าส่วนใหญ่แล้วจะเน้นไปทางอุตสาหกรรมเบา อย่างอุตสาหกรรมสิ่งทอ สายไฟรถยนต์ส่งออก หรืออุปกรณ์กีฬา นอกเขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะกงมีนักธุรกิจน้ำเมาจากไทยเข้าควบรวมกิจการอุตสาหกรรมอ้อย รวมไปถึงท่าเรือเกาะกง เมื่อมองเห็นช่องทางการค้าในระยะยาวหลังเปิด AEC ด้วยการวางหมากที่พร้อมเดินเกมในระยะยาว
สินค้าจากโรงงานอุตสาหกรรมที่นี่ล้วนแล้วแต่เพื่อการส่งออกไม่ว่าจะตลาดในโซนเอเชีย หรือโซนยุโรป กระนั้นเศรษฐกิจของเกาะกงก็ยังไม่คึกคัก นั่นเพราะเส้นทางสัญจรที่เชื่อมโยงไทย-กัมพูชา-เวียดนาม อย่างถนนสาย R10 (Southern Coastal Corridor) ที่ยังไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ที่ดำเนินการแล้วเสร็จไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 คือ R48 เริ่มตั้งแต่เกาะกง ถึงSre Ambel ระยะทาง 151.50 กิโลเมตร ที่ได้รับการช่วยเหลือด้านเงินกู้แบบผ่อนปรนจากไทย ซึ่งได้รับการอนุมัติงบประมาณในสมัยรัฐบาลทักษิณ เพราะแม้ขณะนี้เส้นทาง R48 ที่สร้างเสร็จไปตั้งแต่ 7 ปีก่อน กลับต้องได้รับการซ่อมแซมเป็นการด่วน หลังจากถูกใช้งานอย่างหนักจากรถบรรทุกสินค้าและบรรดาวัตถุดิบสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมรวมไปถึงวัสดุก่อสร้างเพราะเส้นทางนี้สามารถเดินทางไปยังจังหวัดSre Ambelเพื่อแยกไปกรุงพนมเปญได้ โดยผ่านเส้นทาง Central Corridor
หากเส้นทาง R10 เสร็จสมบูรณ์ สิ่งที่ตามมาคงเป็นช่องทางที่นักธุรกิจรายใหญ่มองหาผลประโยชน์จากโปรเจกต์ในฝัน ที่เตรียมผุดขึ้นรายทาง เพราะแต่ละจังหวัดที่เส้นทางสายนี้ผ่านล้วนแล้วแต่เป็นเมืองท่าสำคัญ อย่าง อ.แหลมงอบ และ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด จ.เกาะกง และ จ.สีหนุวิลล์ เมืองท่าสำคัญของกัมพูชา กระทั่ง จ.ฮาเตียน จ.คาเมา ของเวียดนาม
ความสำคัญของท่าเรือเกาะกงนั้นเป็นช่องทางสำคัญที่สินค้าจากฝั่งไทยจะถูกส่งออกจากท่าเรืออำเภอคลองใหญ่จังหวัดตราด ทั้งนี้สัดส่วนของการส่งสินค้าออกทางน้ำของจังหวัดตราดมีมูลค่ากว่าร้อยละ 70 ของสินค้าออกทั้งหมด โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือจังหวัดสีหนุวิลล์ เมืองท่าของกัมพูชา สินค้าเหล่านั้นบางส่วนจะถูกนำไปขายต่อที่เมืองโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม โดยที่ตราดไม่สามารถส่งสินค้าเหล่านั้นไปที่เวียดนามโดยตรงได้ เพราะเรือขนาดเล็กและขนาดกลางจะประสบปัญหาน่านน้ำสากล และจำเป็นต้องเสียค่าธรรมเนียมให้กับศุลกากรของประเทศกัมพูชา
เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้แห่งนี้ถูกใช้เป็นเส้นทางขนส่งวัตถุดิบ และสินค้าที่ผลิตเสร็จแล้วจากฐานรากการผลิตไปสู่ท่าเรือเพื่อส่งออก เชื่อมโยงการผลิตระหว่างประเทศไทย-กัมพูชา-เวียดนาม รวมถึงการกระจายสินค้าจากฐานการผลิตในเวียดนาม หรือบางส่วนที่เป็นสินค้าขาเข้าอันเนื่องมาจากการย้ายฐานการผลิตของไทยไปยังกัมพูชา
ข้อตกลงทางการค้าและการขนส่งข้ามแดนที่มีในปัจจุบัน เป็นโอกาสในการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ASEAN Trade in Goods Agreement: ATIGA) ประกอบด้วย Agreement on the Common Effective Preferential Tariff (CEPT) และ Scheme for the ASEAN Free Trade Area (AFTA) ที่ครอบคลุมประเด็นการค้าทุกเรื่อง โดยการนำหลักเกณฑ์เรื่องการลดและยกเลิกมาตรการทางภาษีและการยกเลิกมาตรการที่มิใช่ภาษีที่มีกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน รวมถึงการลดต้นทุนของการส่งสินค้าเข้าไปขายในกัมพูชาหรือประโยชน์ที่อาจจะได้จากการอาศัยการลดภาษีของกัมพูชาภายใต้กรอบของอาเซียน นอกเหนือจากนี้ยังมีความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS CBTA) ความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน และความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าข้ามแดน
ถึงแม้จะมีข้อตกลงดังกล่าว แต่ผู้ประกอบการจากฝั่งไทยนิยมใช้ท่าเรือจากจังหวัดตราดเพื่อส่งสินค้าไปยังกัมพูชา เพราะค่าใช้จ่ายในการขนส่งทางน้ำจะมีต้นทุนที่ต่ำกว่าสินค้าที่ขนส่งผ่านเส้นทาง R1 ก็ยังประสบปัญหา การขนส่งสินค้าระหว่างไทยและเวียดนาม ต้องชะงักเพราะปัญหาเรื่องน่านน้ำสากลในเขตกัมพูชา ทั้งที่เรากำลังก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)
เส้นทางคู่ขนานระหว่าง Southern Coastal Corridor ที่เป็นเส้นทางการขนส่งทางบก และการขนส่งทางน้ำที่เริ่มจากอ่าวไทยไปกัมพูชาล่องใต้ลงไปกระทั่งถึงเวียดนาม ความเป็นเส้นทางคู่ขนานทางใต้ของภูมิภาคนี้ทำให้เกิดข้อได้เปรียบเมื่อเทียบกับเส้นทาง Northern Corridor และ Eastern Corridor ผลดีต่อนักลงทุนที่มองการณ์ไกลและเตรียมทอดสมอบริเวณชายฝั่งของทั้ง 3 ประเทศ ไม่ว่าจะธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว หรืออสังหาริมทรัพย์ กระทั่งธุรกิจที่เกี่ยวกับระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ เมื่อดูภาพรวมเมืองชายทะเลอย่างจังหวัดสีหนุวิลล์ ของกัมพูชา ดูจะได้เปรียบทั้งขึ้นทั้งล่อง ประกอบกับศักยภาพของเมืองและความสามารถทางการพัฒนาเชิงธุรกิจของสีหนุวิลล์ที่มีอยู่ตอนนี้ นับว่ามาไกลเกินกว่าที่จะถอยหลังได้
บนกระดานหมากล้อมที่มีผู้เล่นมากกว่าสองคน คงต้องมาดูกันว่า ใครจะสยายปีกบินเข้า AEC ได้งดงามกว่ากัน