xs
xsm
sm
md
lg

หอฯ แปดริ้ว เตรียมเดินหน้าเป็นศูนย์กลางค้าข้าวรับ AEC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ฉะเชิงเทรา - หอการค้าแปดริ้ว เตรียมเดินหน้าเป็นศูนย์กลางการค้าสินค้าภาคเกษตรจากเพื่อนบ้าน รับการรวมกลุ่ม AEC เผยมีศักยภาพด้านการผลิตข้าว และภาคการขนส่งพร้อมรอบด้าน โอดยังติดขัดปัญหาด้านข้อกำหนดของกฎหมายบางส่วน ระบุการขับเคลื่อนเริ่มต้นจากการลงนามเอ็มโอยูร่วมกันไว้ก่อนล่วงหน้าแล้ว

วันนี้ (9 ต.ค.) นายวัฒนา รัตนวงศ์ ประธานหอการค้าจังหวัดฉะเชิงเทรา และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมโรงสีข้าวไทย อดีตนายกสมาคมโรงสีข้าวไทยหลายสมัย เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อนทางด้านเศรษฐกิจของจังหวัดฉะเชิงเทรา ในการก้าวเข้าสู่เวทีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปีหน้า (2558) ช่วงที่ผ่านมาว่า ทางหอการค้าจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ร่วมเดินทางไปกับคณะเดินทางเชื่อมความสัมพันธ์แบบบ้านพี่เมืองน้อง ของทางจังหวัดฉะเชิงเทรา ช่วงระหว่างปี 2556-2557 ที่ผ่านมา

โดยในขณะนั้น นายเริงศักดิ์ มหาวินิจฉัยมนตรี อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้นำคณะเดินทางเข้าไปนำร่องในเรื่องของการแมตชิ่งทางธุรกิจ (Business Matching) แบบบ้านพี่เมืองน้องกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่รายรอบใกล้เคียงกัน ทั้งกัมพูชา ลาว เวียดนาม พม่า และจีน จนได้มีการลงนามเซ็นสัญญาความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ร่วมกันระหว่างเอกอัครราชทูตกัมพูชา กับทางจังหวัดฉะเชิงเทรา ว่า จะทำการแมตชิ่งการทำงานร่วมกัน หลังจากมีการเปิดเออีซี ในปี 2558 เกิดขึ้น

โดยเฉพาะความร่วมมือในด้านการค้าขายของสินค้าภาคเกษตร ที่ทางจังหวัดฉะเชิงเทรานั้นถือว่าได้เปรียบกว่าจังหวัดอื่นๆ ที่อยู่ใกล้กับกัมพูชา รวมถึงลาว ที่ต้องใช้เส้นทางการขนส่งผ่านไปยังท่าเทียบเรือแหลมฉบัง

อีกทั้งยังอยู่ไม่ไกลจากพม่ามากนัก ซึ่งสินค้าเกษตรทั้งจากทางด้านประเทศลาว พม่า กัมพูชานั้น ประเทศเหล่านี้สามารถผลิตได้แต่กลับขายไม่ได้ราคา เราหรือประเทศไทยนั้นจึงต้องเป็นฮับ หรือเป็นศูนย์กลางการค้า การส่งออกให้ โดยเฉพาะในเรื่องของการค้าข้าวที่ประเทศไทยเรานั้นมีโรงสีข้าวที่ทันสมัย และมีกำลังการผลิตข้าวได้สูงมากถึง 150 ล้านตันต่อปี ขณะที่ข้าวที่ผลิตได้ในประเทศไทยนั้นสามารถผลิตป้อนได้เพียง 35 ล้านตันต่อปี

ฉะนั้น เราจึงต้องไปช่วยทั้งลาว กัมพูชา และพม่าในการนำเข้ามาผลิต และส่งออกขายเป็นข้าวสารด้วย โดยเฉพาะประเทศกัมพูชา ที่ผลิตข้าวออกมาแล้วขายไม่ได้ราคา หากนำมาผลิตในโรงสีของไทยเราก็จะได้ใช้กำลังการผลิตที่มีอยู่ของโรงสีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเราก็จะได้ทั้งภาษี และแรงงาน รวมถึงสิ่งที่เราจะได้ในด้านอื่นๆ ด้วย เราจึงมุ่งหวังที่จะเป็นศูนย์กลางในการค้าข้าวของภูมิภาค หรือเป็นผู้นำทางการค้าสินค้าจากภาคเกษตรในกลุ่มอาเซียน เพราะเรามีความพร้อมมากกว่าเพื่อนบ้านในทุกๆ ด้าน

นอกจากข้าวแล้ว ยังมีสินค้าข้ามแดนประเภทอื่นๆ ทั้งมันสำปะหลัง ข้าวโพด กาแฟ ที่เรามีความพร้อมในด้านลอจิสติกส์ที่สะดวกรวดเร็วกว่าเพื่อนบ้านมาก เช่น หากกัมพูชา จะส่งออกข้าวจากแหล่งผลิต คือ จ.พระตะบอง ไปยังท่าเรือ จ.กัมปงชะนัมนั้น ต้องใช้เส้นทางการขนส่งไกลมากถึง 400 กว่า กม. จึงทำให้ค่าใช้จ่ายในด้านการขนส่ง หรือลอจิสติกส์นั้นมีราคาแพงมาก หากเทียบกับการขนส่งข้ามแดนเข้ามายังไทย ไปยังท่าเทียบเรือแหลมฉบังที่มีเส้นทางการขนส่งที่สะดวกกว่า และมีระยะทางที่สั้นกว่าเพียง 250 กม.เท่านั้น

หากเทียบกับการขนส่งไปยังประเทศเวียดนาม ซึ่งมีระยะทางประมาณ 250-300 กม.นั้น เส้นทางการคมนาคมยังไม่สะดวก เพราะเส้นทางการขนส่งยังแคบ มีขนาดเล็ก และยังไม่ดีเท่าเรา จึงยิ่งทำให้ค่าใช้จ่ายในการขนส่งสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งหากค่าขนส่งข้าวเขามายังฝั่งเรามีราคาค่าการขนส่งประมาณ 300-400 บาทต่อตัน แต่หากจะทำการขนส่งไปยังฝั่งเวียดนามก็อาจต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงถึงตันละไม่ต่ำกว่า 1 พันบาท

“โดยการขนส่งเข้ามายังฝั่งเราจะสามารถทำได้อย่างรวดเร็วมากกว่า เพราะเส้นทางการคมนาคมเราดีกว่า ขณะที่ทางด้านประเทศลาวนั้น เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล เราจึงต้องเปิดเป็นเส้นทางเศรษฐกิจพิเศษขึ้นมารองรับ เพื่อนำสินค้าข้ามแดนมาจากลาว เข้ามายังประเทศเราเพื่อขนถ่ายลงสู่ท่าเทียบเรือแหลมฉบังซึ่งจะได้รับความสะดวกมากกว่า ขณะที่ทางฝั่งประเทศพม่านั้น สามารถนำสินค้าเข้ามายังเราได้ทางด้าน อ.แม่สอด จ.ตาก แต่ก็อาจเป็นส่วนน้อยที่จะนำสินค้าเข้ามาใช้เส้นทางขนส่งจากทางเรา เนื่องจากทางพม่าเองนั้นมีชายฝั่งทะเลเช่นเดียวกัน” นายวัฒนา กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น