ศูนย์ข่าวขอนแก่น - มข.ร่วมกรมมรดกและกรมวิจิตรศิลป์-สปป.ลาว เปิดตัว “ครูของข้อย” ภาพยนตร์ผ่านงานวิจัยสร้างสรรค์ สะท้อนศิลปวัฒนธรรมบ้านพี่เมืองน้อง ก่อนก้าวสู่ประชาคมอาเซียน เผยมุ่งสร้างมิติใหม่ให้คนทำหนังหันมาทำวิจัยก่อนผลิตผลงาน โดยภาพยนตร์สองสัญชาติบอกเล่าวิถีชีวิต “คำปุ่น” ครูหนุ่มที่ทิ้งความสะดวกสบายในเมืองใหญ่ กลับไปพัฒนาบ้านเกิดตามคำสัญญาวัยเด็ก
“ครูของข้อย” ผลงานวิจัยการสัมมนาผลิตภาพยนตร์สานสัมพันธ์ศิลปวัฒนธรรมลาว-ไทย โดยหอภาพยนตร์คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ร่วมกับกรมฮูปเงา กรมมรดกและกรมวิจิตรศิลป์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ผลิตภาพยนตร์ขึ้นเพื่อสร้างพื้นที่ส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมร่วมกันของบุคลากรจากประเทศไทยและ สปป.ลาว โดยอาศัยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และกระบวนการผลิตภาพยนตร์อย่างสร้างสรรค์ สะท้อนศิลปวัฒนธรรมร่วมกัน
โดยภาพยนตร์ 2 สัญชาติเรื่องดังกล่าวเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา ที่อาคารสิริคุณากร สำนักงานอธิการบดี มข. ผู้ที่มาร่วมบอกเล่าเรื่องราวของหนังเรื่องนี้ ประกอบด้วย ท่านไมสิง จันบุดดี จากสถาบันวิจิตรศิลป์ สปป.ลาว ท่านคำเพ่า วันนะวง ผู้อำนวยการกรมฮูปเงา สปป.ลาว รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายชุมชนสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร มข. และท้าวจันทะสอน พาวิไล ตัวเอกของเรื่อง
เรื่องย่อ “ครูของข้อย” เริ่มต้นจากคำสัญญาในวัยเด็ก สู่อุดมการณ์ของการเป็นครู ผ่าน “คำปุ่น” เด็กชายที่สูญเสียเพื่อนรักในวัยเด็ก ซึ่งได้สัญญากันว่าเมื่อโตขึ้นจะกลับมาเป็นครูสอนเด็กในหมู่บ้าน เมื่อ “คำปุ่น” สำเร็จการศึกษา เขาได้ทิ้งทั้งความรักและอนาคตที่สุขสบายของชีวิตในเมืองหลวง เดินทางกลับบ้านตามคำสัญญาที่ให้ไว้
แต่เมื่อกลับมาถึงหมู่บ้านทุกอย่างกลับไม่เป็นอย่างที่คิด แต่นั่นกลับเป็นแรงผลักดันให้เขาฝ่าฟันอุปสรรค จนเขาได้คำตอบที่มีค่า คือ การกลับมาเป็นครูพัฒนาบ้านเกิดตามคำสัญญากับเพื่อน และตามความตั้งใจของพ่อแม่ แม้จะมีโอกาสได้ทุนไปเรียนต่อในระดับสูงที่ต่างประเทศก็ตาม
รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายชุมชนสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร มข. ในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ “ครูของข้อย” กล่าวถึงที่มาของการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า เริ่มจากการเก็บข้อมูลและอนุรักษ์ภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรม ทั้งของภาคอีสานและประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ และถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการผลิตภาพยนตร์ให้แก่ผู้ที่สนใจ และนับเป็นโอกาสอันดีที่ได้ทำงานวิจัยชิ้นนี้ ในวาระแห่งการเฉลิมฉลอง 50 ปี แห่งการสถาปนา มข. ซึ่งเป็นการส่งเสริมการให้ความรู้เกิดประโยชน์แก่ท้องถิ่นภาคอีสาน และประเทศเพื่อนบ้านในแถบลุ่มน้ำโขง
“ทั้งยังเป็นการสานสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยได้ร่วมลงนามเพื่อสร้างความเข้าใจ และความร่วมมือในมิติวิชาการ การสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งร่วมกันพัฒนาคน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญต่อการก้าวสู่ประชาคมอาเซียนร่วมกัน”
รศ.ดร.นิยมกล่าวว่า “ครูของข้อย” ถือเป็นหนังวิจัยเชิงสร้างสรรค์ “ไอดอลครูพันธุ์ใหม่” ได้อย่างไร? เพราะเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวของคำสัญญา อุดมการณ์ และความรักของครูชาวลาวคนหนึ่ง ที่ต้องการทำให้การศึกษาเดินหน้าควบคู่ไปกับการรู้จักรากเหง้าและวัฒนธรรมของตน
ทั้งนี้ ผลจากการทำวิจัยของสถาบันวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติ สปป.ลาว ที่ปรากฏข้อมูลเชิงประจักษ์ ระบุว่า คนลาวไม่อยากจะรับราชการ โดยเฉพาะรับราชการครู โดยคณะสุดท้ายที่นักเรียนชาวลาวจะเลือกเรียน คือ คณะศึกษาศาสตร์ และที่สำคัญปัจจุบันการเรียนการสอนใน สปป.ลาว ตามผลการวิจัยพบว่าเป็น“การสอนตามประสา” เท่านั้น จึงกังวลว่าหากใช้วิธีการสอนแบบนี้ อนาคตการศึกษาของ สปป.ลาวอาจจะย่ำแย่
ด้วยเหตุนี้ การถ่ายทอดภาพยนตร์ผ่านงานวิจัยสร้างสรรค์นี้ จึงถือเป็นแรงสนับสนุน และผลักดันการเป็นครู หรือการเป็นไอดอลครูพันธุ์ใหม่ และยกฐานะครูให้เห็น ทั้งฐานะด้านการเงิน ด้านต่างๆ ซึ่งเป็นที่น่าดีใจว่าขณะนี้ทางรัฐบาลลาวได้เพิ่มเงินเดือนให้กลุ่มอาชีพครูที่อยู่ในชนบทแล้ว
หนังวิจัยเชิงสร้างสรรค์ที่สร้างขึ้นมีประโยชน์อย่างไร?
รศ.ดร.นิยมกล่าวว่า ถ้าเราจะทำงานศิลปะขึ้นสักชิ้นหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรม ประติมากรรม การออกแบบ หรือการทำภาพยนตร์ ไม่ใช่แค่ทำเพื่อความบันเทิงเฉยๆ ถ้าอยากให้มีคุณภาพ ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย การสร้างสรรค์จึงต้องมาจากการวิจัยก่อน ซึ่งหนังเรื่องนี้เราทำวิจัยไปด้วยทำงานไปด้วย ทางฝ่ายวิจัยบอกว่ามีคุณค่า หนังเรื่องนี้จบออกมามีคุณค่าเทียบเท่ากับงานวิจัยระดับประเทศ ถ้าหนังเรามีคุณภาพไปนำเสนอบทความวิชาการ หรือบทความวิจัยระดับต่างประเทศ ก็จะเป็นงานวิจัยที่เทียบเท่ากับงานวิจัยนานาชาติได้
เพราะฉะนั้น หนัง “ครูของข้อย” จึงมีประโยชน์ในแง่การเป็นมิติใหม่อย่างหนึ่ง ที่จะทำให้คนทำหนังหันมาทำวิจัยไปด้วย เพราะว่าการทำหนังบนฐานวิจัย ก็เท่ากับการทำงานวิจัยที่มีคุณภาพ
ที่มาของงบประมาณผลิตภาพยนตร์?
รศ.ดร.นิยมกล่าวว่า ได้รับการสนับสนุนจากหอภาพยนตร์อีสาน มข. 5 แสนบาท และเงินสนับสนุนอื่น รวมแล้วใช้งบลงทุนกับหนังเรื่องนี้ประมาณ 1 ล้านบาท จึงต้องประหยัดทุกอย่างเท่าที่ทำได้ แม้แต่คนทำงานกว่า 20 คนไม่มีค่าตัว เพราะทำงานในฐานะคนที่รักในสิ่งที่อยากทำเหมือนกัน ส่วนเรื่องค่าตัวนักแสดงจากลาว ก็เจรจาว่าหนังจะไปฉายถึงไหนยังไง นักแสดงบางคนไม่เอาค่าตัว แต่ก็ให้เป็นค่ารถค่าน้ำมัน
เข้าฉายเมื่อไร และรายได้จากหนังจะนำไปทำอะไร?
รศ.ดร.นิยมระบุว่า หนังที่กำกับโดยคนไทย ผู้ช่วยผู้กำกับที่มีทั้งไทยและลาว ธีมและพล็อตเรื่องของลาว ภาษาลาว มีดาราคนไทยสมทบบ้าง เราตั้งใจจะฉายรอบปฐมทัศน์ที่ลาว 7 ตุลาคมนี้ ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง จะไปฉายตามโรงเรียนต่างๆ ทั้งนี้อยากให้คนไทยได้ชมกลิ่นอายของลาว โดยจะนำหนังเข้าฉายในประเทศไทยเร็วๆ นี้ รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจะนำไปสนับสนุนกองทุนเพื่อการศึกษาของ มข.ต่อไป
ขณะที่ท้าวจันทะสอน พาวิไล กล่าวถึงความรู้สึกในการสวมบทบาท “คำปุ่น” พระเอกของเรื่อง “ครูของข้อย” ว่า รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในหนังเรื่องนี้ เพราะก่อนหน้าเคยได้รู้ข่าวมาว่าจะสร้างหนังเรื่องนี้ แต่ไม่รู้ว่าตัวเองจะได้รับคัดเลือกให้แสดงด้วย ถือเป็นประสบการณ์ที่ดี รู้สึกดีใจมาก เพราะหนังเรื่องนี้ทรงคุณค่า และรู้สึกประทับใจอย่างมากกับการรับเล่นบทเป็น “คำปุ่น” แม้ว่าจะมีการติดขัดบ้างในเรื่องการแสดงแต่ทุกอย่างก็ผ่านไปได้ด้วยดี