xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กจิน” สั่ง กทพ.ทบทวนขยายทางด่วน แนวซ้ำซ้อนมอเตอร์เวย์หวั่นสิ้นเปลืองงบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ประจิน” สั่งทบทวนแผนก่อสร้างทางด่วนและมอเตอร์เวย์ใหม่ หวั่นแนวสายทางซ้ำซ้อนทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณเพราะให้บริการลูกค้ากลุ่มเดียวกัน “ปลัดคมนาคม” เตรียมเรียก กทพ.-กรมทางหลวงหารือ ทำแผนโครงข่ายใหม่ ชี้ กทพ.มีอำนาจทำทางด่วนแต่บางจุดอาจไม่เหมาะ เช่น ทางด่วนเชื่อมชายแดน

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า จากการประชุมเชิงปฏิบัติการ (เวิร์กชอป) ด้านการคมนาคมขนส่งทางบกเมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ให้นโยบายทบทวนแผนการดำเนินโครงการระบบทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ของกรมทางหลวง (ทล.) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยให้พิจารณาไม่ให้แนวเส้นทางซ้ำซ้อนหรือคู่ขนานกัน เนื่องจากจะทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณและแย่งผู้ใช้บริการซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกัน โดยได้มอบหมายให้นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในการทบทวนแผนดังกล่าว

นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เร็วๆ นี้จะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมเพื่อร่วมกันศึกษาทบทวนแผนงานโครงการก่อสร้างทางด่วนและมอเตอร์เวย์ในแต่ละเส้นทาง ซึ่งตามหลักการและอำนาจนั้น มติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ปี 2543 ได้มีการกำหนดขอบเขตอำนาจของ กทพ.ไว้ชัดเจน ในการดำเนินการก่อสร้างระบบทางด่วนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทพ.) และวงแหวนชั้นใน และในจังหวัดใหญ่ที่มีปัญหาการจราจรติดขัด แต่ล่าสุด กทพ.มีแผนที่จะดำเนินโครงการทางด่วนไปทั่วทุกภูมิภาครวมถึงโครงการก่อสร้างทางด่วนเชื่อมโยงพื้นที่ด่านชายแดนอีกด้วย จึงต้องหารือร่วมกันกับกรมทางหลวงและ กทพ.เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานและโครงข่ายที่แต่ละหน่วยงานต้องรับผิดชอบให้ชัดเจนเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายที่ไม่ต้องการให้เกิดความซ้ำซ้อนในการลงทุน

ทั้งนี้ ตามแผน กทพ.เตรียมเสนอก่อสร้างโครงการทางด่วนเชื่อมชายแดนหลักๆ 4 ด่านชายแดน คือ ด่านศุลกากรสะเดา จังหวัดสงขลา ด่านศุลกากรหนองคาย-มุกดาหาร ด่านศุลกากรแม่สอด จังหวัดตาก และด่านศุลกากรเชียงของ-แม่สาย จังหวัดเชียงราย เพื่อช่วยให้การขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับอาเซียนสะดวกรวดเร็วนอกจากนี้ ยังมีโครงการทางด่วนที่ต่อขยายจากโครงข่ายในปัจจุบันออกไปยังภูมิภาค เช่น ล่าสุดได้มีการว่าจ้างศึกษาความเหมาะสม โครงการทางพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยา ระยะทาง 71 กม. ซึ่งมีประชาชนไม่เห็นด้วยและต่อต้านโครงการ, ศึกษาความเหมาะสม โครงการทางพิเศษสายอุดรรัถยา-พระนครศรีอยุธยา ระยะทาง 35 กม. วงเงินลงทุน 50,000 ล้านบาท, ทางพิเศษฉลองรัช-สระบุรี ระยะทางประมาณ 63 กม.และโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง–วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ระยะทางรวม 16.923 กม. วงเงินลงทุนประมาณ 27,000 ล้านบาท

ส่วนแผนมอเตอร์เวย์ของกรมทางหลวงนั้นมี 5 โครงการ 1. สายบางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม. วงเงินลงทุน 84,600 ล้านบาท 2. สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม. งบ 55,600 ล้านบาท 3. สายชลบุรี-พัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 89 กม. จุดเริ่มต้นโครงการห่างจากทางแยกต่างระดับพัทยาประมาณ 2.3 กม. 4. สายนครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 118 กม. วงเงิน 44,100 ล้านบาท และ 5. สายบางปะอิน-นครสวรรค์ ระยะทาง 206 กม. วงเงิน 37,300 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น